ทุกะ คือ หมวด ๒
ธรรมมีอุปการะ
๒ อย่าง คือ๑. สติ ความระลึกได้
๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว
การระลึกได้ก่อนที่เราจะทำ จะพูด จะคิด นึกไว้ก่อนแล้วจึงทำ พูด คิด นี้เป็นลักษณะของสติ ฯ
ความรู้ตัวในเวลาที่ตนกำลังทำ พูด คิด ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ไม่ผิดพลาด คอยอุปการะควบคุมสติอยู่เสมอ นี้เป็นลักษณะของสัมปชัญญะ ฯ
ธรรมเป็นโลกบาล หรือ ธรรมคุ้มครองโลก หรือ เทวธรรม (ธรรมของเทวดา) ๒ อย่าง คือ
๑. หิริ ความละอายแก่ใจ
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัว
ความละอายแก่ใจตนเอง ต่อการประพฤติชั่ว ความรังเกียจต่อการประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น นี้เป็นลักษณะของหิริ ฯ
ความไม่กล้าทำความผิด ความหวาดสะดุ้งกลัวต่อบาป เกรงกลัวต่อผลของบาป นี้เป็นลักษณะของโอตตัปปะฯ
ธรรมอันทำให้งาม ๒ คือ
๑. ขันติ ความอดทน
๒. โสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม
ความอดทนต่ออนิฏฐารมณ์ คือ อดทนต่ออารมณ์ที่ไม่ชอบใจไว้ได้ หรือ ความอดทนต่อทุกข์ยาก ลำบากตรากตรำในการประกอบกิจเลี้ยงชีพ อดทนต่อภัยธรรมชาติมีร้อน หนาว และสัตว์เบียดเบียน อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อคำเสียดสี นี้เป็นลักษณะของความอดทน ฯ
การรู้จักทำจิตใจให้แช่มชื่นในเมื่อประสบอนิฏฐารมณ์ พยายามทำใจให้เบิกบานร่าเริง ไม่แสดงออกทางทวารทั้ง ๓ นี้เป็นลักษณะของโสรัจจะ ฯ
บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง คือ
๑. บุพพการี บุคคลที่ทำอุปการะก่อน
๒. กตัญญูกตเวที บุคคลที่รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และทำตอบแทน
บุคคลผู้มีอวิชชา
คือ ความโง่ ครอบงำประจำอยู่ในสันดาน มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียว
โดยมิค่อยเหลียวแลผู้อื่น ยากที่จะทำตนให้เป็นบุพพการีได้
ส่วนบุคคลที่ได้รับอุปการะแล้ว ยากที่จะทำตนให้เป็นผู้รู้กตัญญูกตเวทีได้
จึงชื่อว่า “บุคคลหาได้ยาก ”
บุพพการี คือ บุคคลที่ช่วยเหลือผู้อื่นก่อนนั้น ท่านกล่าวโดยสรุปมี ๔
คือ ๑ พระพุทธเจ้า ๒ พระมหากษัตริย์ ๓. บิดามารดา ๔. ครู-อุปัชฌาย์ กตัญญูกตเวที คือ บุคคลที่ระลึกถึงอุปการะที่บุคคลอื่นทำแก่ตนแล้วตอบแทน มี ๔ คือ ๑. พุทธบริษัท ๔ ๒. พสกนิกร ๓. บุตร-ธิดา ๔. ศิษย์
ติกะ คือ หมวด ๓
รัตนะ ๓
อย่าง คือ
๑. พระพุทธ ๒. พระธรรม ๓.
พระสงฆ์
ท่านผู้สอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
ตามธรรมวินัย ชื่อว่า พระพุทธเจ้าพระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระธรรม
ผู้ที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้วปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เรียกว่า พระสงฆ์
คุณของพระรัตนตรัย คือ
๑. พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม
๒. พระธรรม ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว
๓. พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม
โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง คือ
๑. เว้นจากทุจริต คือ ประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
๒. ประกอบสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
๓. ทำใจของตนให้ผ่องแผ้ว คือ ให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง
ทุจริต ๓ คือ
๑. ประพฤติชั่วด้วยกาย เรียกว่า กายทุจริต อันได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม
๒. ประพฤติชั่วด้วยวาจา เรียกว่า วจีทุจริต อันได้แก่ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
๓. ประพฤติชั่วด้วยใจ เรียกว่า มโนทุจริต อันได้แก่ โลภอยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
สุจริต ๓ คือ
๑. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกว่า กายสุจริต อันได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๒. ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกว่า วจีสุจริต อันได้แก่ เว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
๓. ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกว่า มโนสุจริต อันได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม
รากเหง้าของอกุศล เรียกว่า อกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. โลภะ โลภอยากได้ของเขา
๒. โทสะ คิดประทุษร้ายผู้อื่น
๓. โมหะ หลงไม่รู้จริง
ทั้ง ๓ อย่างนี้ ควรละเสีย
รากเหง้าของกุศล เรียกว่า กุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. อโลภะ ความไม่อยากได้
๒. อโทสะ ความไม่คิดประทุษร้าย
๓. อโมหะ ความไม่หลง
ทั้ง ๓ อย่างนี้ ควรเจริญให้มาก
สัปปุริสบัญญัติ คือ ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้ มี ๓ อย่าง คือ
๑. ทาน สละให้สิ่งของ ๆ ตน
เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น๒. ปัพพัชชา คือการบวช เป็นอุบายเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข
ทาน มี ๒ คือ อามิสทาน การให้สิ่งของแก่ผู้อื่น , ธรรมทาน การให้พระธรรมคำสอน
บุญกิริยาวัตถุ คือ สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญ มี ๓ อย่าง คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
จตุกกะ คือ หมวด ๔
วุฑฒิ คือ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ มี ๔ คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบสัตบุรุษผู้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่าน
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่ว โดยอุบายที่ชอบ
๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ได้ตรองเห็นแล้ว
จักร คือ ธรรมดุจล้อรถที่นำไปสู่ความเจริญ มี ๔
คือ
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร
๒. สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
๔. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน
อคติ คือ ความลำเอียง
หรือ ความไม่ยุติธรรม มี ๔ คือ
๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน
๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน
๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
ปธาน (ความเพียร) ๔ คือ
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดในสันดาน๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
อธิษฐานธรรม (ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ) ๔ คือ
๑. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
๒. สัจจะ ความจริงใย คือประพฤติสิ่งใดให้จริง
๓. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
๔. อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ
อิทธิบาท (ทางแห่งความสำเร็จ) ๔ คือ
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ เพียรหมั่นประกอบในสิ่งนั้น
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้น
ผู้ประกอบกิจทั้งปวง ต้องพอใจในงานนั้น แล้วพยายามขยันในงาน นั้นไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย สนใจอยู่เสมอ เมื่องานนั้นสำเร็จก็ตรวจตรา จนมั่นใจ ท่านเรียกว่า “อิทธิบาท”
ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน
๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
๔. ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูก
พรหมวิหาร คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม หรือท่านผู้ใหญ่ มี ๔ คือ
๑. เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข
๒. กรุณา ความสงสารคิดจะช่วยให้ผู้อื่นเป็นสุข
๓. มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
๔. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ
อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ มี ๔ คือ
๑. ทุกข์ ความไม่สบายกาย เดือดร้อนใจ ทุกข์เพราะเกิดดับ ไม่สมหวัง พลัดพรากจากคนรักและของชอบใจ และทุกข์เนื่องจากมีขันธ์ ๕
๒. สมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ความอยากได้กามคุณ ภวตัณหา อยากมี อยากเป็น วิภวตัณหา อยากให้ตัวเองไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
๓. นิโรธ ความดับทุกข์ กำจัดตัณหาให้สิ้นไป จิตสว่างสงบจากกิเลสและนิวรณ์
๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
ความสำคัญของอริยสัจ
๑. อริยสัจธรรม
นำไปสู่ที่สุดคือวิปัสสนาปัญญา ข้ามพ้นสังสารวัฏฏ์ได้๒. มัชฌิมาปฏิปทา แนวปฏิบัติเกี่ยวกับศีล สมาธิ ปัญญา เหมาะแก่ทุกคน
๓. สามุกกังสิกา พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ยกอริยสัจ ๔ ขึ้นแสดงเป็นสำคัญ
๔. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหล่าอรหันตสาวกบรรลุธรรมตาม ก็เพราะอาศัยอริยสัจ ๔ ฯ
ปัญจกะ คือ หมวด ๕
อนันตริยกรรม
๕ อย่าง คือ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกกัน
อนันตริยกรรม จัดเป็นครุกรรม คือกรรมหนัก
เฉพาะมารดาบิดา แม้ไม่รู้ว่าเป็นมารดาบิดา หากฆ่าลงไป ก็จัดเป็นอนันตริยกรรมเช่นกัน
กรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นบาปหนักที่สุด ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานะแห่งปาราชิก ของภิกษุผู้บวชในพระพุทธศาสนา
ในอนันตริยกรรมข้อที่หนักที่สุด คือ สังฆเภท การยังสงฆ์ให้แตกกัน
อภิณหปัจจเวกขณะ ๕ คือ
๑. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
๓. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราจักต้องพลัดพรากจากของที่รัก ที่ชอบใจทั้งสิ้น
๔. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
๕. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
ธัมมัสสวนานิสงส์ (อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ) ๕ คือ
๑. ผู้ฟังย่อมได้รับสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. สิ่งใดที่เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจในสิ่งนั้นชัด
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้อง
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
พละ คือ ธรรมเป็นกำลัง ๕ คือ
๑. สัทธา ความเชื่อ เชื่อว่าคุณและโทษของกรรมมีจริง
๒. วิริยะ ความเพียร คือ ละเว้นจากบาปอกุศล เพียรในปธาน ๔
๓. สติ ความระลึกได้ มีสติรอบคอบขณะทำ พูด คิด
๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น มีพลังจิตมั่น ปราศจากนิวรณ์
๕. ปัญญา ความรอบรู้
ธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ เมื่อรวมเป็นกำลังอันเดียวกัน ย่อมเป็นกำลังอันใหญ่ที่สามารถเป็นพลังที่จะดำเนินงานนั้นได้ แม้จะเป็นงานใหญ่ ฯ
ธรรม ๕ ข้อนี้ เรียกว่า อินทรีย์ ๕ ก็ได้ เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน
ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อพละ หรือ อินทรีย์ ๕ คือ
๑. สัทธา มี อสัทธียะ ความไม่เชื่อเป็นข้าศึก
๒. วิริยะ มี โกสัชชะ ความเกียจคร้านเป็นข้าศึก
๓. สติ มี ปมาทะ ความเลินเล่อเป็นข้าศึก
๔. สมาธิ มี อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านเป็นข้าศึก
๕. ปัญญา มี อญาณะ ความไม่รู้เป็นข้าศึก
ขันธ์ ๕ (ขันธ์ แปลว่า กอง)
ชีวิตหรือตัวตน ประกอบด้วยกายและจิต คือรูปกับนาม
เรียกว่า เบญจขันธ์ ๑. รูป เรือนร่างที่คุมรวมกันไว้ด้วยธาตุ ๔ อันเป็นส่วนที่ปรากฏเห็นได้ด้วยตา
๒. เวทนา การเสวยอารมณ์ รู้สึกสุข ทุกข์ หรือ เฉย ๆ
๓. สัญญา ความจำได้หมายรู้ คือจำอารมณ์คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่เกิดกับใจได้
๔. สังขาร สภาวะปรุงแต่งวิญญาณผู้ก่อกรรมให้ดี ให้ชั่ว หรือไม่ดี-ไม่ชั่ว เกิดเป็นรูปนามติดต่อไป
๕. วิญญาณ ความรู้แจ้งในอารมณ์ที่สัมผัสกับปัจจัยภายนอก
ขันธ์ ๕ นี้ เรียกว่า นามรูป , เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นนาม, รูปคงเป็น รูป เหมือนเดิม ฯ
ฉักกะ คือ หมวด
๖
คารวะ ๖
อย่าง คือ
๑. ความเคารพเอื้อเฟื้อในพระพุทธเจ้า
๒. ความเคารพเอื้อเฟื้อในพระธรรม
๓. ความเคารพเอื้อเฟื้อในพระสงฆ์
๔. ความเคารพเอื้อเฟื้อในการศึกษา
๕. ความเคารพเอื้อเฟื้อในความไม่ประมาท
๖. ความเคารพเอื้อเฟื้อในปฏิสันถาร
การต้อนรับปราศรัย
คารวะ แปลว่า ความเคารพ , ความเอื้อเฟื้อ หมายถึง การปฏิบัติชอบ ยกย่องเชิดชูสาราณียธรรม คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการระลึกถึง มี ๖ คือ
๑. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณร ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนด้วยกายมีพยาบาลภิกษุไข้ เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา
๒. เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณร ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนด้วยวาจา เช่นกล่าวสั่งสอน เป็นต้น
๓. เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน
๔. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาโดยชอบธรรม ให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว
๕. รักษาศีลให้บริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่น ๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น
๖. มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่น ๆ ไม่วิวาทกับใคร ๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน
ธรรม ๖ อย่างนี้
ทรงแสดงแก่ภิกษุจึงดูเหมือนเป็นเรื่องเฉพาะพระ
แต่ความจริงแล้วทุกคนนำไปใช้ได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย
เช่นอยู่กับบิดามารดาก็ใช้ว่า เข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อัน
ประกอบด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง ช่วยท่านทำงาน พูดกับท่านด้วยปิยวาจา
มีจิตใจเคารพนับถือท่าน เป็นต้น
สัตตกะ คือ หมวด ๗
อริยทรัพย์ ๗ อย่าง
อริยทรัพย์ แปลว่า ทรัพย์อันประเสริฐ ท่านกล่าวดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะเป็นคุณสมบัติอยู่ในตนไม่มีใครแย่งชิงไปได้ และจ่ายเท่าไรก็ไม่รู้จักหมด ทั้งเป็นเหตุและเป็นเครื่องอุดหนุนโภคทรัพย์ภายนอกบังเกิดขึ้น ทรัพย์ภายนอกจะช่วยอุดหนุนเกื้อกูลได้เพียงปัจจุบันเท่านั้น ส่วนอริยทรัพย์จักตามอุดหนุนเกื้อกูลทั้งโลกนี้และโลกหน้า
๑. สัทธา ปักใจเชื่อที่พิสูจน์ได้สมเหตุสมผล
๒. สีล มีสมบัติผู้ดี มารยาทสงบเสงี่ยม พูดจาสุภาพ
๓. หิริ ละอายใจ ไม่กล้าทำบาปทุจริต ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๔. โอตตัปปะ เกรงกลัวต่อความชั่ว เกรงเวรภัย และเสื่อมศักดิ์ศรี จึงไม่เสี่ยงทำผิด
๕. พาหุสัจจะ ความเป็นคนรอบรู้ ชำนาญการทั้งคดีธรรม คดีธรรม
๖. จาคะ ไม่แล้งน้ำใจ เผื่อแผ่พัสดุสิ่งของเพื่อความสุขของผู้อื่น
๗. ปัญญา หลักแหลมแยบคายในอุบายชีวิต ทั้งผิดชอบ ควรมิควรอย่างไร
สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของสัตบุรุษ มี ๗ อย่าง คือ
๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
๒. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่น รู้ว่าสุขเป็นผลแห่งการทำดี ทุกข์เป็นผลแห่งการทำชั่ว
๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน รู้สำเนียกความรู้ความสามารถ วางตนสมอัตภาพอย่างเจียมใจ
๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ เช่น รู้จักใช้งบประมาณพอดี สมควรแก่ฐานะ
๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลอันสมควร
๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน เข้าใจปรับบุคคลิกภาพของตนให้สอดคล้องกับสมาคมทุกระดับ
๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคลว่าผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้ไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น
สัตบุรุษ คือ คนดี มีความประพฤติทางกาย วาจา ถูกต้อง เรียบร้อยไม่มีโทษไม่เบียดเบียนผู้อื่น บุคคลใดประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ บุคคลนั้นแล ชื่อว่า สัตบุรุษ
อัฏฐกะ คือ หมวด ๘
โลกธรรม คือ
ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลก มี ๘
๑. มีลาภ มีสิ่งที่ต้องการสมใจ ๒. ไม่มีลาภ ไม่ได้ครอบครองของที่หวัง
๓. มียศ มีตำแหน่งหน้าที่ถูกใจ ๔. เสื่อมยศ ถูกลิดรอนสิทธิและลดตำแหน่ง
๕. สรรเสริญ มีชื่อเสียงเด่น ๖. นินทา ถูกติเตียน กล่าวร้าย
๗. สุข ชีวิตผาสุก สดชื่น แจ่มใส ๘. ทุกข์ ทรมานกาย และ ขมขื่นใจ
ในโลกธรรม ๘ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ควรพิจารณาว่า สิ่งนี้เกิดแล้ว แต่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรรู้ตามความเป็นจริง อย่าให้มันครอบงำจิตได้
คืออย่ายินดีในส่วนที่น่าปรารถนา อย่ายินร้ายในส่วนที่ไม่น่าปรารถนา
ทสกะ คือ หมวด
๑๐
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง
๑. ทานมัยบุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญจิตภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจการชอบธรรม
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการแบ่งให้คนอื่นมีส่วนแห่งความดีที่ตนทำ
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยความพลอยยินดี รับรู้ความดีงามของผู้อื่น
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยความตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแนะแนวทางที่ชอบด้วยศีลธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญสำเร็จด้วยการปรับแนวความคิด ให้ตรงตามหลักธรรม
คิหิปฏิบัติ
หมวดว่าด้วยการประพฤติปฏิบัติตนของคฤหัสถ์
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง
๑. อุฏฐานสัมปทา เพียรเอาจริงเอาจังในการศึกษา เลี้ยงชีพ ธุรกิจทุกอย่าง
๒. อารักขสัมปทา คุมภารกิจมิให้บกพร่อง ประหยัดและคุ้มครองทรัพย์สิน
๓. กัลยาณมิตตตา เลี่ยงหลบคนชั่ว ปลูกมิตรกับคนดี
๔. สมชีวิตา จับจ่ายเลี้ยงชีพและครอบครัว พอควรแก่รายได้และเท่าที่จำเป็น
ท่านกล่าวว่า เป็นหัวใจเศรษฐี คือสามารถนำผู้ปฏิบัติตามให้มีฐานะมั่นคงได้
สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ภายหน้า ๔ อย่าง
๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา เชื่อมั่นหลักธรรม เชื่อกฏของกรรม๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค น้ำใจเสียสละ เกื้อกูลผู้อื่นให้มีสุข
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา จิตสำนึกผิดชอบชั่วดี รู้ปรัชญาชีวิต
มิตรปฏิรูป คือ คนเทียมมิตร ๔ จำพวก
มิตรปฏิรูป คือ คนที่ไม่ใช่มิตรแท้ ผู้ไม่มีความจริงใจ ไม่ควรคบใกล้ชิด คือ
๑. คนปอกลอก ทำตีสนิทให้วางใจ ปลิ้นปล้อน
๒. คนดีแต่พูด กำนัลด้วยลมปากหวานหว่านล้อม
๓. คนหัวประจบ ทำโอนอ่อนใจเลี้ยวลด ใจคดปากซื่อ
๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย ชักจูงให้หลงผิดจนเสียตัวเสียคน (ข้อนี้อันตรายที่สุด)
ลักษณะของคนปอกลอก มี ๔ คือ
๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒. เสียให้น้อย คิดเอาให้ได้มาก
๓. เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรีบทำกิจของเพื่อน
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว
ลักษณะของคนดีแต่พูด มี ๔ คือ
๑. เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย ๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๔. ออกปากพึ่งมิได้
ลักษณะของคนหัวประจบ มี ๔ คือ
๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม ๒. จะทำดีก็คล้อยตาม
๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ ๔. ลับหลังตั้งนินทา
ลักษณะของคนชักชวนในทางฉิบหาย มี ๔ คือ
๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา ๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการละเล่น ๔. ชักชวนเล่นการพนัน
มิตรแท้ ๔ จำพวก
มิตรแท้ คือเพื่อนที่มีความปรารถนาดี มีน้ำใสใจจริง รักเพื่อนเหมือนส่วนหนึ่งของซีวิตตน
๑. มิตรมีอุปการะ ยามเดือดร้อนอาศัยได้ คราวลำเค็ญก็เกื้อหนุน
๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ น้ำใจซื่อ เปิดเผย เข้าถึงใจกัน เสียสละแทนกันได้
๓. มิตรแนะนำประโยชน์ ตักเตือนมิให้หลงผิด ปลุกปลอบให้ตั้งตนไว้ชอบ
๔. มิตรมีความรักใคร่ เสมอต้นเสมอปลาย รักและภักดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ลักษณะของมิตรมีอุปการะ มี ๔ คือ
๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้ ๔. เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
ลักษณะของมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มี ๔ คือ
๑. ขยายความลับของตนแก่เพื่อน ๒. ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย
๓. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ๔. แม้ชีวิตก็อาจจะสละแทนได้
ลักษณะของมิตรแนะนำประโยชน์ มี ๔ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๔. บอกทางสวรรค์ให้
ลักษณะของมิตรมีความรักใคร่ มี ๔ คือ
๑. ทุกข์ ก็ทุกข์ด้วย ๒. สุข ก็สุขด้วย
๓. โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน ๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน
๑. ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน
๒. ปิยวาจา เจรจาอ่อนหวาน
๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป้นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๔. สมานัตตตา ความมีตนเสมอไม่ถือตัว
ธรรมของฆราวาส ๔ อย่าง คือ
๑. สัจจะ ซื่อสัตย์ต่อกัน
๒. ทมะ รู้จักข่มจิตของตน
๓. ขันติ อดทน
๔. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน
ปัญจกะ คือ หมวด ๕
ประโยชน์เกิดจากการถือโภคทรัพย์ ๕ อย่าง คือ (สนามหลวงตัดออก)
๑. เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข
๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข
๓. บำบัดอันตรายที่เกิดแต่เหตุต่าง ๆ
๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ
๑) ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
๒) อติถีพลี ต้อนรับแขก
๓) ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
๔) ราชพลี ถวายเป็นของหลวง มีการเสียภาษีอากร เป็นต้น
๕) เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา
๕. บริจาคทานในสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ
มิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง
๑. ค้าขายเครื่องประหาร ๒. ค้าขายมนุษย์๓. ค้าขายสัตว์สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ๔. ค้าขายน้ำเมา
๕. ค้าขายยาพิษ
(การค้าขาย ๕ อย่างนี้ เป็นข้อห้าม อุบาสกไม่ควรประกอบ)
คุณสมบัติของอุบาสก ๕ ประการ คือ
๑. ประกอบด้วยศรัทธา
๒. มีศีลบริสุทธิ์
๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา
๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพระพุทธศาสนา
( อุบาสกพึงตั้งอยู่ในสมบัติ ๕ ประการนี้ และเว้นจากวิบัติ ๕ ประการ ซึ่งวิปริตจากสมบัตินั้น)
ฉักกะ คือ หมวด ๖
ทิศ ๖
๑. ปุรัตถิมทิส คือ ทิศเบื้องหน้า
มารดาบิดา
๒. ทักขิณทิส คือ ทิศเบื้องขวา
อาจารย์
๓. ปัจฉิมทิส คือ ทิศเบื้องหลัง
บุตร - ภรรยา
๔. อุตตรทิส คือ ทิศเบื้องซ้าย
มิตรสหาย
๕. เหฏฐิมทิส คือ ทิศเบื้องต่ำ
บ่าวไพร่
๖. อุปริมทิส คือ ทิศเบื้องบน
สมณพราหมณ์
ปุรัตถิมทิส คือทิศเบื้องหน้า มารดาบิดา
บุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
๑. ท่านได้เลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ ๒. ทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล ๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
มารดาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๔. หาภรรยาที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย
ทักขิณทิส คือทิศเบื้องขวา อาจารย์ ศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้
๓. ด้วยเชื่อฟัง ๔. ด้ายอุปัฏฐาก
๕. ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
อาจารย์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ
๑. แนะนำดี ๒.ให้เรียนดี
๓. บอกศิลปะให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง ๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง
๕ ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย (คือจะไปทางทิศไหนก็ไม่อดอยาก)
ปัจฉิมทิส คือทิศเบื้องหลัง ภรรยา สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๔ คือ
๑. ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา ๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น
๓. ด้วยไม่ประพฤติล่วงใจ ๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้
๕. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว
ภรรยาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ
๑. จัดการงานดี ๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงของผัวดี
๓.ไม่ประพฤติล่วงใจผัว ๔. รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาได้ไว้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง
อุตตรทิส คือทิศเบื้องซ้าย มิตร กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
๑. ด้วยให้ปัน ๒. ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ
๓. ด้วยประพฤติประโยชน์ ๔. ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ
๕. ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง
มิตรได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ
๑. รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
๒. รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัยเอาเป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร
เหฏฐิมทิศ คือทิศเบื้องต่ำ บ่าว นายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
๑. ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล
๓. ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้
๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน
๕. ด้วยปล่อยในสมัย
บ่าวได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ
๑. ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย ๒. เลิกงานทีหลังนาย
๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๔. ทำการงานให้ดีขึ้น
๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้น ๆ
อุปริมทิส คือทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์ กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ๑. ด้วยกายกรรม คือทำอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา
๒. ด้วยวจีกรรม คือพูดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา
๓. ด้วยมโนกรรม คือคิดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา
๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือมิได้ห้ามไม่ให้เข้าบ้าน
๕. ด้วยให้อามิสทาน
สมณพราหมณ์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ๔. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๖. บอกทางสวรรค์ให้
อบายมุข คือเหตุฉิบหาย ๖ อย่าง
๑. ดื่มน้ำเมา ๒. เที่ยวกลางคืน ๓. เที่ยวดูการเล่น
๔. เล่นการพนัน ๕. คบคนชั่วเป็นมิตร ๖. เกียจคร้านการทำงาน
ดื่มน้ำเมามีโทษ ๖ อย่าง คือ
๑. เสียทรัพย์ ๒. ก่อการทะเลาะวิวาท ๓. เกิดโรค
๔. ต้องติเตียน ๕. ไม่รู้จักอาย ๖. ทอนกำลังปัญญา
เที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่าไม่รักษาตัว ๒. ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย
๓. ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ ๔. เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย
๕. มักถูกใส่ความ ๖. ได้รับความลำบาก
เที่ยวดูการเล่น มีโทษตามวัตถุที่ไปดู ๖ อย่างคือ
๑. รำที่ไหนไปที่นั่น ๒. ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น
๓. ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั่น ๔. เสภาที่ไหน ไปที่นั่น
๕. เพลงที่ไหน ไปที่นั่น ๖. เถิดเทิงที่ไหน ไปที่นั่น.
เล่นการพนัน มีโทษ ๖ ดังนี้
๑. เมื่อชนะ ย่อมก่อเวร ๒. เมื่อแพ้ ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
๓. ทรัพย์ย่อมฉิบหาย ๔. ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ
๕. เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน ๖. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย.
คบคนชั่วเป็นมิตร มีโทษตามบุคคลที่คบ ๖ ดังนี้
๑. นำให้เป็นนักเลงเล่นการพนัน ๒. นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้
๓. นำให้เป็นนักเลงเหล้า ๔. นำให้เป็นคนลวงเขาด้วยของปลอม
๕. นำให้เป็นคนลวงเขาซึ่งหน้า ๖. นำให้เป็นนักเลงหัวไม้
เกียจคร้านทำการงาน มักอ้างเลศ ๖ ดังนี้
๑. มักอ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน
๒. มักอ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน
๓. มักอ้างว่าเวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน
๔. มักอ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน
๕. มักอ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำการงาน
๖. มักอ้างว่ากระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน
******************************************************
0 comments:
Post a Comment