Wednesday, July 4, 2012

๑. การเข้าใจกิจของพระภิกษุสงฆ์


กิจธุระที่สำคัญของพระสงฆ์ มี ๒ ประการ ดังนี้
๑.๑ การศึกษาอบรม
เมื่อบวชเรียน พระภิกษุจะต้องได้รับการศึกษาอบรม ๓ ด้าน เรียกว่า
“ไตรสิกขา” (ศีล สมาธิ ปัญญา) โดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ได้แก่
๑. ด้านศีล การศึกษาอบรมด้านศีล คือ การควบคุมกายและวาจาให้เป็นระเบียบ
เรียบร้อยหรือปกติ ศีลของพระภิกษุสงฆ์ มี ๒ ประเภท คือ

๑.๑ ศีลในปาติโมกข์ คือ ศีลของพระภิกษุ ๒๒๗ ข้อและศีลของภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ
๑.๒ ศีลนอกปาติโมกข์ คือ ข้อบัญญัติเกี่ยวกับมารยาทต่าง ๆ ที่พระภิกษุและ
ภิกษุณีพึงต้องปฏิบัติ นอกเหนือจากศีลที่กล่าวมาข้างต้น
๒. ด้านสมาธิ คือ การฝึกพัฒนาจิตให้มีคุณภาพ จิตที่ผ่านการฝึกฝนอบรมแล้วจะ
มีสุขภาพจิตดี และมีความเข้มแข็งอดทน การฝึกจิตให้มีคุณภาพ ทำได้ ๒ วิธี คือ
สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
๒.๑ การฝึกสมถภาวนา คือ การตั้งสติเพื่อให้จิตหยุดนิ่งหรือสงบ โดยวิธี
ต่าง ๆ (มีถึง ๔๐ วิธี) จนจิตเกิดสมาธิ เมื่อจิตสงบแล้วก็สามารถกำจัดกิเลสสิ่งมัวหมอง
บางอย่างในจิตใจออกไปได้ เป้าหมายคือการฝึกจิตให้สงบ และกำจัดกิเลสได้เป็นครั้งคราว
๒.๒ การฝึกวิปัสสนาภาวนา เป็นขั้นที่ทำต่อจากสมถภาวนา เมื่อจิตเกิดสมาธิ
แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายในโลกให้เห็นความจริง คือ ความไม่เที่ยง การมีทุกข์ และไม่ใช่ของเราจนจิตเกิดการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้น จิตจึงหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้ เป้าหมายของการฝึกวิปัสสนาภาวนา คือ การใช้ปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งและกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด
๓. ด้านปัญญา พระสงฆ์จะต้องศึกษาอบรมให้เป็นผู้มีปัญญา เพื่อให้เป็นที่
เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ในฐานะที่เป็นผู้นำทางปัญญาของชาวบ้าน ปัญญาในที่นี้มี ๒ ระดับ คือ
๓.๑ ปัญญาระดับสุตะ เป็นความรู้ทางโลกทั่ว ๆ ไป พระสงฆ์ได้รับความรู้จาก
การฟังและการอ่าน เพื่อให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านได้ เช่น ความรู้ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ
และการประกอบวิชาชีพพื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น
๓.๒ ปัญญาระดับญาณ คือ ความสามารถหยั่งรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
โดยได้มาจากการฝึกสมาธิวิปัสสนา

ภาพพระสงฆ์ศึกษาพระธรรม
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค พรไชยะสิทธิ์

๑.๒ การปฏิบัติธรรมและเป็นนักบวชที่ดี
เมื่อศึกษาอบรมด้านศีล สมาธิ และปัญญาอย่างถ่องแท้แล้วพระภิกษุจะต้องนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติ โดยเผยแพร่หลักธรรมคำสอนให้แก่ชาวพุทธ กิจของสงฆ์ในข้อนี้ คือ
๑. ทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และสร้างศรัทธาความเลื่อมใสให้เกิดแก่
พุทธศาสนิกชน โดยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และรักษาศีลวินัยโดยเคร่งครัด ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ได้พบเห็น
๒. อธิบายให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เมื่อเกิดการเข้าใจผิด หรือคลาดเคลื่อนในการตีความหมายในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
๓. สอนให้ละเว้นความชั่ว กลัวบาป และหมั่นทำแต่กรรมดี ทั้งนี้ หลักธรรมที่นำมาเผยแพร่ต้องให้เหมาะสมกับระดับความรู้และพื้นฐานของแต่ละบุคคลด้วย ได้แก่
๓.๑ ระดับพื้นฐาน เน้นที่ความสำเร็จในการดำเนินชีวิต พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ
และมีความสุขแบบชาวโลก เช่น มีความครัวที่ดี ขยันในการประกอบอาชีพ และเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นต้น
๓.๒ ระดับกลาง เน้นให้มีคุณธรรม และจริยธรรม
๓.๓ ระดับสูง เน้นที่การกำจัดกิเลสทั้งปวง จนเข้าสู่ภาวะนิพพาน

ภาพพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ)
ที่มา : ภาพโดย อรุณี สังขกุญชร

๔. สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพไว้สืบทอดพระพุทธศาสนา พระสงฆ์จะต้องสร้าง
ทายาทไว้ทำหน้าที่สืบทอดกิจการพระศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป โดยพิจารณาจากผู้มีความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี มีความประพฤติดี และมีความสามารถในการถ่ายทอด เป็นต้น
(วิทย์ วิศกเวทย์ และเสฐียรพงษ์ วรรณปก, ๒๕๔๗, หน้า ๙๔ – ๙๕)

ภาพพระเทพปัญญาเมธี เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค พรไชยะสิทธิ์

กลับสู่ด้านบน

0 comments:

Post a Comment

Bookmarks