ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานภาพและบทบาทที่ตนดำรงอยู่ เป็นบิดามารดามีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรให้เจริญเติบโต เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ เป็นครูอาจารย์มีหน้าที่สอนและอบรมศีลธรรมจรรยาให้ศิษย์มีความรู้และประพฤติตนเป็นคนดี เป็นนักเรียนมีหน้าที่เรียนหนังสือ เชื่อฟังพ่อแม่และครูอาจารย์ มีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรในสังคมก็พยายามปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ ให้ดีที่สุด ในพระพุทธศาสนาก็ได้กล่าวถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในลักษณะเช่นนี้ไว้เหมือนกัน โดยพระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ในหลัก ทิศ ๖
ในสิงคาลกสูตร การปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบตามหลักทิศ ๖ ได้ถูกต้อง ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ดี
ทิศ ๖ หมายถึง บุคคลประเภทต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางสังคม มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงปฏิบัติต่อกัน ดังนี้
๑. ทิศเบื้องหน้า (ปุรัตถิมทิศ) ได้แก่ บิดามารดา
๒. ทิศเบื้องขวา (ทักขิณทิศ) ได้แก่ ครูอาจารย์
๓. ทิศเบื้องหลัง (ปัจฉิมทิศ) ได้แก่ บุตรภรรยา
๔. ทิศเบื้องซ้าย (อุตตรทิศ) ได้แก่ มิตรสหาย
๕. ทิศเบื้องล่าง (เหฏฐิมทิศ) ได้แก่ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและลูกจ้าง
๖. ทิศเบื้องบน (อุปริมทิศ) ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะทิศเบื้องบน ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ เท่านั้น
พระภิกษุสงฆ์ คือ ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่สละความสุขทางโลกและความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน ยินยอมพร้อมใจจะประพฤติพรหมจรรย์ มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อชาวบ้านตามหลักทิศเบื้องบนในทิศ ๖ ดังนี้
๑. ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว
๒. สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดีและน้ำใจอันดีงาม
๔. ให้ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง (หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังมาแล้วแต่ยังไม่แจ่มแจ้งและสงสัยให้เข้าใจชัดเจน แจ่มแจ้ง
และหายสงสัย
๖. แนะนำแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ชาวบ้านปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ประพฤติในสิ่งที่ดีงามเพื่อความสุขในชีวิตในส่วนของชาวบ้าน มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อพระภิกษุสงฆ์ตามหลักทิศ ๖ ดังนี้
๑. จะทำสิ่งใดต่อพระภิกษุสงฆ์ ก็ทำด้วยเมตตา
๒. จะพูดสิ่งใดกับพระภิกษุสงฆ์ ก็พูดด้วยเมตตา
๓. จะคิดสิ่งใดกับพระภิกษุสงฆ์ ก็คิดด้วยเมตตา
๔. เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาถึงบ้าน ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๕. อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหารบิณฑบาต ยารักษาโรค เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) และเครื่องนุ่งห่ม (สบง จีวร สังฆาฏิ) ถ้าชาวพุทธต่างรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตน และปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบนั้น ๆ ให้ดีที่สุดก็เรียกได้ว่า เป็นชาวพุทธที่ดีแล้ว
(จรัส พยัคฆราชศักดิ์ และกวี อิศริวรรณ, ๒๕๔๖, หน้า ๑๔๙ - ๑๕๐)
ภาพพระวิทยากร ค่ายปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ณ วัดจุกเฌอ
ที่มา : ภาพโดย อรุณี สังขกุญชร
0 comments:
Post a Comment