การรักษาศีล ๘ หรือการรักษาอุโบสถศีลเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบหรือการประพฤติไม่ดีทางกาย วาจา ใจ ชนิดที่เห็นได้ง่าย ได้ชัด เกิดแก่คนทั่ว ๆไป ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะชั้นชนใด ตามปกติการขจัดขัดเกลากิเลสดังกล่าวสำหรับปุถุชนคนธรรมดาถือว่ารักษาศีล ๕ ก็นับว่าเพียงพอ แต่สำหรับผู้ที่จะละกิเลสให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็อาจรักษาศีล ๘ ซึ่งเป็นศีลที่ทำให้ละความสะดวกสบาย ความสวยความงามและความน่าพึงพอใจทางกายต่าง ๆ อันเป็นการละกามกิเลสเพิ่มขึ้น บางคนที่เคร่งครัดก็รักษาเป็นปกติ บางคนที่ยังไม่สะดวกก็ควรตั้งใจรักษาศีล ๘ คราวละ ๓ วัน วันรับวันหนึ่ง วันรักษาวันหนึ่ง และวันส่งอีกวันหนึ่ง เช่น จะรักษาในวันพระ ๘ ค่ำ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่วัน ๗ ค่ำ ไปจนสิ้นวัน ๙ ค่ำ คือ รุ่งอรุณของวัน ๑๐ ค่ำ โดยทั่วไปมักรักษาศีล ๘ ในวันพระหรือวันอุโบสถเพียงวันเดียว คือวันหนึ่งกับคืนหนึ่งการรักษาศีล ๘ แม้ไม่ใช่นิจศีล คือ ศีลที่รักษาเป็นประจำซึ่งได้แก่ศีล ๕ แต่ก็ควรถือเป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่จะหาโอกาสรักษาศีล ๘ บ้าง อย่างน้อยเพื่อให้มีประสบการณ์ในการรักษาศีลที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติอันเป็นการทำให้เราเป็นคนมีศีลเพิ่มขึ้น ขจัดกิเลสที่ละเอียดมากขึ้นกว่าศีล ๕
๑. ระเบียบพิธี กรมการศาสนาได้กำหนดระเบียบพิธีรักษาศีล ๘ ไว้ดังนี้
๑.๑ เมื่อตั้งใจจะรักษาศีล ๘ ในวันพระใด พึงตื่นแต่เช้าก่อนรุ่งอรุณ คือ ๐๖.๐๐ น. เตรียมตัวอาบน้ำแต่งกายให้สะอาดแล้วบูชาพระเปล่งวาจาอธิษฐานอุโบสถด้วยตัวเองว่า
“อิมํ อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ พุทฺธปญฺญตฺตํ อุโปสถํ อิมญฺจ รตฺตึ อิมญฺจ ทิวสํ
สมฺมเทว อภิรกฺขิตุ ํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอสมาทานอุโบสถพุทธบัญญัติ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้ เพื่อจะรักษาไว้ให้ดีมิให้ขาด มิให้ทำลาย ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งในเวลาวันนี้” เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้วจึงไปวัดเพื่อรับสมาทานอุโบสถศีลต่อ
๑.๒ อุบาสก อุบาสิกา พึงร่วมกันทำวัตรเช้าหลังจากภิกษุสามเณรทำวัตรเสร็จแล้ว
๑.๓ เมื่อทำวัตรเสร็จ หัวหน้าอุบาสก อุบาสิกา พึงคุกเข่าประนมมือประกาศอุโบสถทั้งคำบาลีและคำไทยดังนี้
คำประกาศองค์อุโบสถ และคำแปล
อชฺช โภนฺโต ปกฺขสฺส อฏฺมีทิวโส เอวรูโป โข โภนฺโต ทิวโส
พุทฺเธน ภควตา ปญฺญตฺตสฺส ธมฺมสฺสวนสฺส เจว ตทตฺถาย อุปาสกอุปาสิกานํ
อุโปสถสฺส จ กาโล โหติ หนฺท มยํ โภนฺโต สพฺเพ อิธ สมาคตา ตสฺส ภควโต
ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติยา ปูชนตฺถาย อิมญฺจ รตฺตึ อิมญฺจ ทิวสํ อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ อุโปสถํ อุปวสิสฺสามาติ กาลปริจฺเฉทํ กตฺวา ตํ ตํ เวรมณึ อารมฺมณํ กริตฺวา อวิกฺขิตฺตจิตฺตา หุตฺวา สกฺกจฺจํ อุโปสถํ สมาทิเยยฺยาม อีทิสํ หิ อุโปสถํ สมฺปตฺตานํ อมฺหากํ ชีวิตํ มา นิรตฺถกํ โหตุ ฯ
ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะสมาทานรักษาอุโบสถ อันพร้อมไปด้วยองค์แปดประการให้สาธุชนที่ได้ตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกัน ก่อนแต่สมาทาน ณ บัดนี้ ด้วยวันนี้เป็น วันอัฎฐมดิถีที่แปด แห่งปักษ์มาถึงแล้วก็แหละวันเช่นนี้ เป็นกาลที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ให้ประชุมฟังธรรมและเป็นการที่จะรักษาอุโบสถของอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรมนั้นด้วย
เชิญเถิด เราทั้งหลายทั้งปวงที่ได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้ พึงกำหนดกาลว่าจะรักษาอุโบสถตลอดกาล วันหนึ่งกับคืนหนึ่งนี้ แล้วพึงทำความเว้นโทษนั้น ๆ เป็นอารมณ์ (คือ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒ เว้นจากลักฉ้อสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้
๓ เว้นจากประพฤติกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์๔ เว้นจากเจรจาคำเท็จ ล่อลวงผู้อื่น
๕ เว้นจากดื่มสุราเมรัยอันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท
๖ เว้นจากบริโภคอาหารตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์เที่ยงแล้วไปจนถึงเวลาอรุณขึ้นมาใหม่
๗ เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีต่าง ๆ แต่บรรดาที่เป็นข้าศึกแก่กุศลทั้งสิ้น และทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม ผัดผิวทำกายให้วิจิตรงดงามต่าง ๆ อันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี
๘ เว้นจากนั่งนอนเหนือเตียงตั่งม้าที่มีเท้าสูงเกินประมาณและที่นั่งที่นอนใหญ่ ภายในมีนุ่นและสำลี
เครื่องปูลาดที่วิจิตรด้วยเงินและทองต่าง ๆ ) อย่าให้มีจิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น
พึงสมาทานเอาองค์อุโบสถทั้งแปดประการโดยเคารพ เพื่อจะบูชาสมเด็จพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้านั้นด้วยธรรมานุธรรมปฏิบัติ อนึ่ง ชีวิตของเราทั้งหลายที่ได้เป็นอยู่รอดมาถึงวันอุโบสถเช่นนี้ จงอย่าได้ล่วงไปเสียเปล่าจากประโยชน์เลยฯ คำประกาศนี้สำหรับวันพระ ๘ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ถ้าเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ เปลี่ยนบาลีเฉพาะคำ อฏฺฐมีทิวโส เป็น ปณฺณรสีทิวโส และเปลี่ยนคำไทยที่เป็นตัวเอนว่า
“วันปัณณรสีดีถีที่สิบห้า” ถ้าเป็นวันพระ ๑๔ ค่ำ เปลี่ยนบาลีตรงนั้นว่า จาตุทฺทสีทิวโส และเปลี่ยนคำไทยแห่งเดียวกันว่า “วันจาตุททสีดิถีที่สิบสี่” สำหรับคำไทยภายในวงเล็บจะว่าด้วยก็ได้ ไม่ว่าด้วยก็ได้ แต่มีนิยมอยู่ว่าในวัดใดที่ท่านให้สมาทานอุโบสถ บอกให้สมาทานทั้งวงเล็บ เพราะพระท่านจะบอกให้สมาทานเมื่อจบประกาศนี้แล้ว สำหรับวัดที่ท่านให้สมาทานอุโบสถศีล แต่เฉพาะคำบาลีเท่านั้นไม่บอกคำแปลด้วย เวลาประกาศก่อนสมาทานนี้ ควรว่าความในวงเล็บทั้งหมด
๑.๔ เมื่อหัวหน้าประกาศจบแล้ว พระสงฆ์ผู้แสดงธรรมขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ อุบาสก อุบาสิกา ทุกคน พึงนั่งคุกเข่ากราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน ว่าดังนี้
มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห อฏฐงฺคสมนฺนาคตํ อุโปสถํ ยาจาม (ว่า ๓ จบ)
ต่อนี้ คอยตั้งใจรับสรณคมน์และศีลโดยเคารพ คือ ประนมมือ
๑.๕ พึงว่าตามคำที่พระสงฆ์บอกเป็นตอน ๆไป คือ
นโม ...................... (๓ จบ)
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ
ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
เมื่อพระสงฆ์ว่า “ติสรณคมนํ นิฎฺฐิตํ” พึงรับพร้อมกันว่า “อาม ภนฺเต”
แล้วท่านจะให้ศีลต่อไป คอยรับพร้อมกันตามระยะที่ท่านหยุด ดังต่อไปนี้
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๓. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฎฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๖. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนามาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา
เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
อิมํ อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ พุทฺธปญฺญตฺตํ อุโปสถํ อิมญฺจ รตฺตึ อิมญฺจ ทิวสํ
สมฺมเทว อภิรกฺขิตุ ํ สมาทิยามิ.
หยุดรับเพียงเท่านี้ ในการให้ศีลอุโบสถนี้ ตลอดถึงคำสมาทานท้ายศีล บางวัดให้เฉพาะ คำบาลี มิได้แปลให้ บางวัดให้คำแปลด้วยทั้งนี้สุดแต่นิยมอย่างใดตามความเหมาะสมของบุคคลและสถานที่นั้น ๆ
ถ้าท่านแปลให้ด้วยก็พึงว่าตามเป็นข้อ ๆ และคำ ๆ ไปจนจบต่อนี้พระสงฆ์จะว่า
“อิมานิ อฏฺฐ สิกฺขาปทานิ อโปสถวเสน มนสิกริตฺวา สาธุกํ อปฺปมาเทน รกฺขิตพฺพานิ” พึงรับพร้อมกันว่า “อาม ภนฺเต” แล้วพระสงฆ์จะว่าอานิสงส์ศีลต่อไป ดังนี้ สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ตสฺมา สีลํ วิโสธเยฯ
พอท่านว่าจบ พึงกราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง ต่อนี้นั่งราบพับเพียบประนมมือฟังธรรม ซึ่งท่านจะได้แสดงต่อไป
๑.๖ เมื่อพระแสดงธรรมจบแล้ว ทุกคนพึงให้สาธุการและสวดประกาศตนพร้อมกัน ดังนี้
สาธุ สาธุ สาธุอหํ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
อุปาสกตฺตํ เทเสสึ ภิกฺขุสงฺฆสฺส สมฺมุขา
เอตํ เม สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ
เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจเย
ยถาพลํ เจรยฺยาหํ สมฺมาสมฺพุทฺธสาสนํ
ทุกฺขนิสฺสรณสฺเสว ภาคี อสฺสํ อนาคเต ฯคำสวดประกาศข้างต้นนี้ ถ้าผู้ว่าเป็นหญิงพึงเปลี่ยนคำที่ขีดเส้นใต้ไว้ คือ คโต
เปลี่ยนเป็นว่า คตา อุปสากตฺตํ เปลี่ยนเป็นว่า อุปาสิกตฺตํ และ ภาคี อสฺสํ เปลี่ยนเป็นว่า ภาคินิสฺสํ
นอกนั้นว่าเหมือนกัน เมื่อสวดประกาศนี้จบแล้ว พึงกราบพร้อมกันอีก ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีตอนเช้าเพียงเท่านี้
๑.๗ ต่อนี้ผู้รักษาอุโบสถพึงยับยั้งอยู่ที่วัด ด้วยการนั่งสนทนาธรรมกันบ้าง ภาวนากัมมัฏฐานตามสัปปายะของตนบ้าง หรือจะท่องบ่นสวดมนต์และอ่านหนังสือธรรมอะไร ๆ ก็ได้ ถึงเวลาพึงรับประทานอาหารเพลให้เสร็จทันกาลก่อนเที่ยง เสร็จแล้วจะพักผ่อนหรือปฏิบัติอะไรที่ปราศจากโทษ ก็แล้วแต่อัธยาศัย พอได้เวลาบ่ายหรือเย็นจวนค่ำพึงประชุมกันทำวัตรค่ำตามแบบนิยมของวัดนั้น ๆ ในภาคบ่ายจนถึงเย็นนี้ บางแห่งทางวัดจัดให้มีเทศน์โปรดอีกกัณฑ์หนึ่ง ถ้ามีเทศน์ พระผู้เทศน์จะลงมาเทศน์ เมื่อจบทำวัตรตอนนี้ หัวหน้าพึงนั่งคุกเข่ากราบพระ ๓ ครั้ง แล้วกล่าวอาราธนาธรรมพิเศษโดยเฉพาะว่าดังนี้
จาตุทฺทสี ปณฺณรสี ยา จ ปกฺขสฺส อฏฺฐมี
กาลา พุทฺเธน ปญฺญตฺตา สทฺธมฺมสฺสวนสฺสิเม
อฏฺฐมี โข อยนฺทานิ สมฺปตฺตา อภิลกฺขิตา
เตนายํ ปริสา ธมฺมํ โสตุ ํ อิธ สมาคตา
สาธุ อยฺโย ภิกฺขุสงฺโฆ กโรตุ ธมฺมเทสนํ
อยญฺจ ปริสา สพฺพา อฏฺฐิกตฺวา สุณาตุ ตนฺติ ฯ
คาถาอาราธนาธรรมนี้ ใช้เฉพาะวันพระ ๘ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นข้างแรม ถ้าเป็นวันพระ
๑๕ ค่ำ เปลี่ยนคำที่ขีดเส้นใต้ไว้เป็นว่า “ปณฺณรสี” ถ้าเป็นวันพระ ๑๔ ค่ำ เปลี่ยนคำนั้นเป็นว่า
“จาตุทฺทสี” นอกนั้นเหมือนกัน
๑.๘ เมื่ออาราธนาจบแล้ว พระจะขึ้นแสดงธรรม พึงนั่งฟังธรรมโดยเคารพอย่างพิธีตอนเช้า พอเทศน์จบ ทุกคนพึงให้สาธุการและสวดประกาศตนพร้อมกัน อย่างเดียวกับที่ว่าท้ายเทศน์ในภาคเช้าและสวดประกาศต่อท้ายติดต่อกันไปอีกว่า
กาเยน วาจาย ว เจตสา วา
พุทฺเธ กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ
พุทฺโธ ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนฺตํ
กาลนฺตเร สํวริตุ ํ ว พุทฺเธ ฯ
กาเยน วาจาย ว เจตสา วา
ธมฺเม กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ
ธมฺโม ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนฺตํ
กาลนฺตเร สํวริตุ ํ ว ธมฺเม ฯ
กาเยน วาจาย ว เจตสา วา
สงฺเฆ กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ
สงฺโฆ ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนฺตํ
กาลนุตเร สํวริตุ ํ ว สงฺเฆ ฯ
๑.๙ ถ้าไม่มีเทศน์กัณฑ์เย็น พอทำวัตรจบผู้ประสงค์จะกลับไปพักผ่อนที่บ้าน
พึงขึ้นไปลาหัวหน้าสงฆ์บนกุฏิ หรือหัวหน้าสงฆ์จะลงมารับในที่ประชุม ก็แล้วแต่ธรรมเนียมของวัดนั้น ๆ ส่วนผู้ประสงค์จะค้างที่วัดไม่กลับบ้านก็ไม่ต้องลา แต่ถ้ามีเทศน์ด้วยดังกล่าวผู้จะกลับบ้านพึงบอกลาต่อพระผู้เทศน์ เมื่อสวดประกาศตอนท้ายเทศน์จบลงแล้วลากลับได้ทันที คำลากลับบ้านพึงว่าดังนี้
หนฺททานิ มยํ ภนฺเต อาปุจฺฉาม พหุกิจฺจา พหุกรณียา.
พระสงฆ์ผู้รับลา จะเป็นในที่ประชุมฟังเทศน์หรือบนกุฏิก็ตาม พึงกล่าวคำว่า
“ยสฺสทานิ ตุมฺเห กาลํ มญฺญถ” ผู้ลาพึงรับคำพระพร้อมกันว่า “สาธุ ภนฺเต”
แล้วกราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี ฯภาพการเข้าค่ายปฏิบัติธรรมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
๑. ภาพการยืน
๒. ภาพการเดิน๓. ภาพการนั่ง
๔. ภาพการนอน
0 comments:
Post a Comment