การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ การประกาศตนของผู้แสดงว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน เป็นการแสดงตนให้ปรากฏว่ายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิตของตนนั่นเอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงชี้แจงเหตุผลและที่มาของพิธีนี้ไว้โดยละเอียดในพระนิพนธ์คำนำหนังสือพุทธมามกะว่า“การแสดงให้ปรากฏว่า เป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้า ได้ทำกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เป็นกิจจำต้องทำในสมัยนั้นอันเป็นคราวที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นใหม่ เพื่อแสดงให้รู้ว่าตนละลัทธิเดิมรับเอาพระพุทธศาสนาไว้เป็นที่นับถือ วิธีแสดงตนมีต่างกันโดยสมควรแก่บริษัท ดังนี้
๑. ผู้เป็นบรรพชิตภายนอกมาก่อนแล้ว กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ พระศาสดาทรงรับด้วยวาจาว่า “มาเถิดภิกษุ ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” หรือเพียงว่า “มาเถิดภิกษุ จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” ภิกษุที่ทรงรับใหม่นั้นถือเพศตาม เป็นเสร็จ คฤหัสถ์ผู้ปรารถนาจะเป็นภิกษุแสดงตนและทรงรับเหมือนอย่างนั้น
๒. ผู้ขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระสาวก รับถือเพศตามก่อนแล้วลั่นวาจาถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือที่ระลึกนับถือ ๓ หน เป็นเสร็จ
๓. ภายหลังใช้วิธีที่ ๒ รับเป็นสามเณร สงฆ์ประกาศรับเป็นภิกษุ
๔. คฤหัสถ์ผู้ไม่ปรารถนาจะบวช ลั่นวาจาถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ปฏิญาณตน ชาย เป็นอุบาสก หญิง เป็นอุบาสิกา ลั่นวาจาอย่างอื่นอันมีใจความอย่างเดียวกัน เช่น ขอถวายตัวขอรับเอาเป็นที่พำนัก ขอเข้าเป็นศิษย์ หรือไม่ได้ลั่นวาจาแต่สำแดงความนับถืออย่างสูงให้ปรากฏเช่นในบัดนี้กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ท่านว่าใช้ได้ ทำข้อหลังดูเหมือนเพียงได้ความรับรองว่าเป็นนับถือ
การปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่จำต้องทำเฉพาะคราวเดียว ทำซ้ำ ๆ ตามกำลังแห่งศรัทธาและความเลื่อมใสก็ได้ เช่น พระสาวกบางรูป ภายหลังแต่ได้รับอุปสมบท ลั่นวาจาว่า “พระผู้มีพระภาค เป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ๆ เป็นสาวก” ดังนี้ก็มีอุบาสกประกาศตนหนหนึ่งแล้ว ประกาศซ้ำอีกก็มีเมื่อการถือพระศาสนาไม่เป็นเพียงเฉพาะตัว ถือกันทั่วทั้งสกุลและสืบชั้นลงมา มารดา บิดายอมนำบุตรธิดาของตนให้เข้าถึงพระศาสนาที่ตนนับถือตั้งแต่ยังเป็นเด็กอ่อน ไม่รู้จักเดียงสา นำเข้าพระศาสนาแต่ยังเด็ก เด็กไม่รู้สึกตนเองด้วย เมื่อโตขึ้นที่เป็นชายจึงนำเข้าบรรพชาเป็น สามเณร และอุปสมบทเป็นภิกษุ ที่เจ้าตัวได้ปฏิญาณและได้ความรู้สึก การทำและสำแดงซ้ำอย่างนี้ คือ ทำให้มั่น เช่นเดียวกับอุปสมบทซ้ำเมื่อความนิยมในการบวชเณรจืดจางลง พร้อมกับการส่งเด็กออกไปเรียนยุโรปก่อนแต่มีอายุสมควรบวชเณร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปริวิตกว่าเด็ก ๆ จักหาได้ความรู้สึกในทางพระศาสนาไม่ จึงโปรดให้พระราชโอรสผู้มิได้เคยทรงผนวชเป็นสามเณรทรงปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อนเสด็จออกไปศึกษาในยุโรปครั้งนั้นใช้คำสำแดงเป็นอุบาสกตามแบบบาลี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นองค์แรกปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น และใช้เป็นพระราชประเพณีต่อมาได้ทราบว่าผู้อื่นจากพระราชวงศ์เห็นชอบตามพระราชดำริทำตามบ้างก็มี ธรรมเนียมนี้แม้ได้ใช้นานมาแล้วยังไม่ได้เรียบเรียงไว้เป็นแบบแผน คราวนี้สมเด็จ พระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระกรุณาโปรดจะส่งพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร พระโอรสสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตกับหม่อนเจ้าอื่น ๆ ออกไปศึกษาในยุโรป สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต มีพระประสงค์จะให้พระโอรสได้ปฏิญาณพระองค์ในพระพุทธศาสนาตามธรรมเนียมที่พระองค์ได้เคยทรงมา พระบิดาและพระญาติของหม่อมเจ้าอื่นก็ทรงดำริร่วมกัน เป็นอันว่าธรรมเนียมนี้ ยังจักใช้อยู่ต่อไป ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงตั้งเป็นแบบไว้ทีเดียว สำหรับใช้ทั่วไป ไม่เฉพาะเจ้านายได้แก้บท “อุบาสก” เฉพาะผู้ใหญ่ได้ศรัทธาเลื่อมใสด้วยตนเองเป็น “พุทธมามกะ” ที่แปลว่าผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตนเอง โดยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะขึ้นสืบต่อกันมา แต่ในปัจจุบันความนิยมของชาวพุทธในประเทศมีสรุปได้ว่า
๑. เมื่อมีบุตรหลานของตนมีอายุพ้นเขตเป็นทารก คือรู้เดียงสาแล้ว เจริญวัยอยู่ในระหว่าง ๑๒ – ๑๕ ปี ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธตามตระกูลวงศ์ต่อไป หรือ
๒. เมื่อจะส่งบุตรหลานของตนซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว ให้ไปอยู่ในถิ่นที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา เพื่อการศึกษาหรือเพื่อประโยชน์ใด ๆ ก็ตาม เป็นการที่ต้องจากถิ่นไปนานแรมปีก็นิยมประกอบพิธีให้บุตรหลานของตนที่จะจากไปนั้น แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้เด็กได้รำลึกอยู่เสมอว่าตนเป็นพุทธศาสนิกชน หรือ
๓. เมื่อจะปลูกฝังนิสัยเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา ส่วนมากทางโรงเรียนที่สอนวิชาทั้งสามัญและวิสามัญศึกษาแก่เด็ก ซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มชาวพุทธ นิยมประกอบพิธีให้นักเรียนที่เข้าศึกษาใหม่ในรอบปี ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะหมู่ คือ แสดงรวมกันเป็นหมู่ ทำปีละครั้งในวันที่สะดวกที่สุด แล้วแต่ทางโรงเรียนเห็นว่าเหมาะ เพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญในการที่ตนเป็นชาวพุทธร่วมอยู่กับชาวพุทธทั้งหลาย หรือ
๔. เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต้องการจะประกาศตนเป็นชาวพุทธก็ประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะเพื่อประกาศว่า นับแต่นี้ไปตนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา
ระเบียบพิธีการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
สำหรับชาวพุทธที่ยังไม่ได้บวชเป็นสามเณรและพระภิกษุ การแสดงตนเป็นพุทธมามกะควรจะกระทำในพระอุโบสถหรือสถานที่มีพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชาที่ประดับแจกันดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูปเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัย ที่ขาดไม่ได้ คือ พระภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูป ขึ้นไป เมื่อทุกฝ่ายพร้อมแล้ว จึงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
๑. ผู้ที่จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นุ่งขาว ห่มขาว หรือแต่งเครื่องแบบตามระเบียบของตน แล้วแต่กรณี คุกเข่าหน้าโต๊ะหมู่บูชา จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
ถ้าแสดงตนเป็นหมู่ ให้หัวหน้าเข้าไปจุดธูปเทียนบุชาคนเดียว นอกนั้นวางดอกไม้ธูปเทียนยังที่ที่จัดไว้ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือ หัวหน้านำกล่าวคำบูชาให้ว่าพร้อม ๆ กัน การกราบต้องก้มลงกราบกับพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทุกครั้ง
๒. ในกรณีแสดงตนคนเดียว เดินเข่าเข้าไปหาพระภิกษุสงฆ์แล้วกราบด้วย เบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ในกรณีแสดงตนเป็นหมู่ ทุกคนนั่งคุกเข่าประนมมืออยู่กับที่ หัวหน้าหมู่คนเดียวนำนักการะที่เดียวเข้าถวายแทนทั้งหมู่ แล้วกราบพร้อมกับหัวหน้า
๓. กราบเสร็จแล้ว เปล่งคำปฏิญาณตนต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ทั้งคำบาลีและคำแปลเป็นตอน ๆ ไปจนจบ เมื่อผู้ปฏิญาณกล่าวคำปฏิญาณจบแล้ว พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดประนมมือรับ สาธุ พร้อมกัน จากนั้นให้ผู้ปฏิญาณนั่งพับเพียบแล้วประนมมือฟังโอวาทต่อไป
๔. เมื่อจบโอวาทแล้ว ผู้ปฏิญาณรับคำว่า สาธุ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือน้อมตัวลงเล็กน้อยกล่าวคำอาราธนาศีลและสมาทานศีล
๕. เมื่อหัวหน้าพระภิกษุสงฆ์บอกอานิสงค์ศีลจบแล้วผู้ปฏิญาณกราบ ๓ ครั้ง ถ้ามีเครื่องไทยธรรมถวายพระภิกษุสงฆ์ นำมาประคนในขั้นตอนนี้ เสร็จแล้วนั่งพักเพียบตรงหน้าพระภิกษุสงฆ์เตรียมกรวดน้ำเมื่อพระภิกษุอนุโมทนา
๖. ขณะหัวหน้าพระภิกษุสวดว่า ยถา... ผู้ปฏิญาณกรวดน้ำ และเมื่อท่านสวดขึ้นต้นว่า สพฺพีติโย... เทน้ำให้หมดแล้วนั่งประนมมือรับพระเสร็จนั่งคุกเข่ากราบพระภิกษุสงฆ์ ๓ ครั้ง
เป็นอันเสร็จพิธี (จรัส พยัคฆราชศักดิ์ และกวี อิศริวรรณ, ๒๕๔๖, หน้า ๑๕๔ - ๑๕๙)ภาพตัวแทนนักเรียนกล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ
ที่มา : ภาพโดย อรุณี สังขกุญชรภาพพระสงฆ์ให้โอวาท ในพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
ที่มา : ภาพโดย อรุณี สังขกุญชร
0 comments:
Post a Comment