Wednesday, July 4, 2012

๖. การเข้าค่ายพุทธธรรม

การเข้าค่ายพุทธธรรม คือ การสมัครเข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรมระยะสั้นตามที่โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่ตนสังกัดจัดขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยมากมักเป็น ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน และ ๑๕ วัน เป็นต้น
การเข้าค่ายพุทธธรรม หรือเรียกว่า ค่ายพุทธบุตร เป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนหรือเยาวชนได้มีโอกาสศึกษา และปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่วัย จะได้พัฒนาตนเองและสร้างสรรค์สังคม โดยรู้ซึ้งถึงหลักธรรม มีความรักความศรัทธา มีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา รวมถึงเพื่อยกระดับจิตใจให้มั่นคงมีคุณธรรม การเข้าค่ายพุทธธรรม เป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ควรส่งเสริม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ขั้นตอน
๑. กำหนดระดับนักเรียน เยาวชน ระดับใด เช่น อายุ การศึกษา เป็นต้น เพื่อมิให้ผู้เข้าร่วมในกิจกรรมค่ายพุทธบุตร มีความแตกต่างซึ่งยากง่ายต่อการดูแล
๒. กำหนดเวลา ในการดำเนินกิจกรรมนี้ อาจเป็น ๓ วัน ๒ คืน หรือตามแต่ความ
เหมาะสมของผู้จัดดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าประสงค์
๓. ติดต่อประสานงานเกี่ยวกับพระวิทยากร สถานที่จัดอบรม อาจเป็นวัด โรงเรียน หรือตามความเหมาะสม ระยะเวลา งบประมาณ เป็นต้น
ระเบียบพิธี
๑. ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์กล่าวนำคำบูชาพระรัตนตรัย
๒. ผู้ดำเนินโครงการกล่าวนำ นำเสนอโครงการ ประธานกล่าวเปิดงานและมอบนักเรียน แก่พระวิทยากร
๓. พิธีมอบตัวเป็นศิษย์ให้นักเรียนชายนั่งคุกเข่าท่าเทพบุตร นักเรียนหญิงนั่งในท่าเทพธิดา และให้นักเรียนกล่าวตาม มีผู้กล่าวนำ “ข้าแต่พระอาจารย์ และครูอาจารย์ที่เคารพ ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะตั้งใจศึกษาเชื่อฟังคำสั่งสอนและปฏิบัติตาม ด้วยความเคารพทุกประการ ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจงมีแต่ความสุขความเจริญ ตลอดกาลนานเทอญ”
๔. อาราธนาศีล และสมาทานศีล ๕ ประธานสงฆ์ให้โอวาท
๕. เข้าสู่กระบวนการอบรมตามที่แต่ละโครงการและสถานที่กำหนดขึ้น
ขอบข่ายการอบรม
๑. ภาควิชาการพระพุทธศาสนา ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้วิชาการทาง
พระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับช่วงเวลาของการอบรม เช่น พุทธประวัติ ธรรมประยุกต์คือการแนะนำหลักธรรมเพื่อมาผสานกับการดำเนินชีวิต ศาสนพิธี สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนพิธี มารยาทไทย เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ที่ดีงามของไทย เป็นต้น
๒. ภาคอบรมจิตใจ มีการทำวัตรสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา เดินจงกรม แผ่เมตตา เป็นปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่วัยเป็นการฝึกความแน่วแน่ และความอดทนของจิต อันจะนำมาซึ่ง การเข้าใจในอารมณ์และจิตใจของตน
๓. ภาคนันทนาการหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมจริยธรรมและปลูกฝังเจตคติที่ดีสำหรับ
เยาวชน เช่น เกมคุณธรรม นำความบันเทิงมาผสมกับคุณธรรม สรภัญญะ เป็นบทสวดทำนองส่งเสริมให้เกิดสติปัญญา เกิดความแช่มชื่นแก่จิตใจ การโต้วาทีธรรมะ เป็นต้น
๔. กิจกรรมพิเศษ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมและทัศนคติที่ดี เช่น แสงเทียนแสงธรรม ที่มีเป้าหมายเพื่อรำลึกถึงพระคุณแม่ กิจกรรมจุดเทียนปัญญา เป็นการสร้างสำนึกให้เด็กรู้จักหน้าที่ และความรับผิดชอบในการกระทำความดี การทอดผ้าป่ากิเลส เป็นการบำเพ็ญสัจจะบารมี ละเลิกความชั่ว และจะตั้งใจทำแต่ความดี เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับ
๑. สร้างเจตคติที่ดีให้เยาวชนต่อความเข้าใจหลักการทางพระพุทธศาสนา
๒.ผู้ที่เข้ารับการอบรมจะได้นำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันให้เป็นชีวิตที่ดีงาม เป็นการปลูกฝังค่านิยม และพัฒนาจิตสำนึกที่ดีงามในหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม (นพดล ขวัญชนะภักดี, ๒๕๔๗, หน้า ๔๖ – ๔๗)
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ได้จัดทำโครงการเข้าค่ายปฏิบัติธรรมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เป็นประจำทุกปี มีแนวปฏิบัติดังนี้
หลักสูตรในการฝึกอบรมปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ (วัดจุกเฌอ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ พานักเรียนไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรม มีดังนี้
หลักสูตรในการฝึกอบรมพัฒนาจิตของศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดฉะเชิงเทราอาศัยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นเครื่องมือสำคัญในการฝึกอบรมเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีสมาธิ มีความอดทน มีความพากเพียร มีปัญญาในการทำงาน สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถดับทุกข์ทางใจได้ สร้างกำลังใจให้มีความอดทน ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามทำนองคลองธรรม นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสมบุญกุศลในระดับโลกิยะเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถรับรู้วิถีจิตของตนก่อนที่จะดับสิ้นชีวิต การฝึกสมาธิตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งกรมการศาสนากระทรวศึกษาธิการ ใช้ชื่อว่า “โครงการพัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้เป็นคน เก่ง คนดี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารสถานศึกษาและครูอาจารย์ ในการจัดอบรมบุคลากรของสถานศึกษาหลักสูตรพัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติกระทรวงศึกษาธิการได้ยึดหลักการปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ดังนี้
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สติตามพิจารณากายเป็นอารมณ์ ได้แก่ การตั้งสติพิจารณาลมหายใจเข้าออก ดูอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ดูการเคลื่อนไหวหรืออิริยาบถย่อย เช่น เหลียว คู้ เหยียด ถอย ถ่าย การตั้งสติพิจารณาความสกปรกปฏิกูลแห่งร่างกาย การกำหนดดูธาตุ ๔ และการกำหนดดูความเปื่อยเน่าที่เรียกว่าอสุภะ ธรรมะหมวดนี้จะทำลายความเห็นผิดที่เรียกว่า สุภวิปลาส คือความเห็นว่าด้วยตัวเองสวยงาม น่ารัก น่าชม ให้กลับเห็นถูกต้องว่าเป็นสิ่งสกปรก โสโครกเต็มไปด้วยสิ่งเน่าเปื่อย น่าเกลียด
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สติตามพิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์ ได้แก่ การตั้งสติพิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติอันได้แก่ สุข ทุกข์ และอุเบกขาเวทนา (เฉย) และต้องกำหนดไปถึงอาการปวด เมื่อย เจ็บ คัน ชา ยอก ฯลฯ ธรรมะหมวดนี้จะทำลายความเห็นผิดที่เรียกว่า สุขวิปลาส คือ เห็นว่ารูปนามนั้นเป็นสุข ให้เห็นว่ามีเพียงทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป แต่คนที่เรามองไม่เห็นทุกข์ ก็เพราะอิริยาบถปิดบังสัจธรรมนี้ เมื่อทุกข์กายก็ขยับกาย เมื่อทุกข์ใจหงุดหงิดก็ขยับใจ(คิดไปเรื่องอื่น) พอขยับทีก็คิดว่าสุข แต่ความจริงแล้วเป็นการเริ่มทุกข์อันใหม่
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สติพิจารณาจิตเป็นอารมณ์ ได้แก่ การพิจารณาเฝ้าดูจิตตนในกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ กำหนดอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดูอารมณ์ ดูจิตสงบ ดูจิตฟุ้งซ่าน ดูจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ เมื่อรู้จิตของตนเอง โดยทันปัจจุบันแล้ว จะสามารถทำลายนิจวิปลาส คือ การเห็นว่าทุกสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ให้เห็นสัจธรรมว่าเป็นอนิจจัง คือ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สติตามพิจารณาธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ การกำหนดรู้ธรรม๕ คือ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ และอริยสัจ ๔ ธรรมเหล่านี้จะทำลาย อัตตวิปลาส คือ ความยึดมั่นในสัตว์ บุคคล ตัวเรา ตัวเขา ให้ได้รู้ภาวะความเป็นจริงของอนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตน
วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
๑. การเดินจงกรม ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลังมือขาวจับข้อมือซ้ายวางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่ปลายผม กำหนดว่า ยืนหนอ ช้า ๆ ๕ ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงจนครบ ๕ ครั้ง แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกคำว่า ยืน จิตวาดมโนภาพ ร่างกายจากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือลงไปปลายเท้า กำหนดความว่า ยืน จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือขึ้นไปปลายผม กำหนดกลับไปกลับมาจนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย อย่างให้ออกไปนอกกาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้าทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๔ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิม กำหนดว่า ขาว ย่าง หนอ กำหนดในใจ คำว่า ขวาต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อมกัน ย่าง ต้องก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าที่สุดเท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่า หนอ เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า ซ้าย ย่าง หนอ คงปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ ขวา ย่าง หนอ ระยะ ในการก้าวเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน เงยหน้า หลับตา กำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า กลับหนอ ๔ ครั้ง คำว่า กลับหนอครั้งที่ ๑ ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา ๙๐ องศา ครั้งที่ ๒ ลากเท้าซ้ายมาติดกับเท้าขวา ครั้งที่ ๓ เหมือนครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ ขณะนี้จะอยู่ในทางกลับหลังแล้วต่อไปกำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง ลืมตาก้มหน้าแล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ต้องการ
๒. การนั่ง กระทำต่อจากการเดินจงกรมอย่าให้ขาดตอนลงเมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนดยืน หนอ อีก ๕ ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่าปล่อยมือหนอ ช้า ๆ จนกว่าจะลงสุด เวลานั่งค่อย ๆ ย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดตามอาการทำไปจริง ๆ เช่น ย่อตัวหนอ เท้าพื้นหนอ คุกเข่าหนอ นั่งหนอ เป็นต้น วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่สะดือคือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า พอง หนอ ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบ หนอ ใจนึกกับท้องที่ยุบต้องทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกันข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่ พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้อง ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาข้างหลังอย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบนท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ต่อไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนดเมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติแน่นอนจะต้องมีความอดทนเพื่อเป็นการสร้างขันติบารมีไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้วการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลวในขณะที่นั่งหรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาความเจ็บปวด เมื่อย คัน เกิดขึ้น ให้หยุดเดินหรือหยุดกำหนดพองยุบ ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า ปวดหนอ เจ็บหนอ เมื่อยหนอ คันหนอ เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ก็ให้กำหนดนั่งหรือเดินต่อไปจิต เวลานั่งอยู่หรือเดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สิน หรือคิดฟุ้งซ่าน ต่าง ๆ นานา ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่ พร้อมกับกำหนดจิต คิดหนอ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตละหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ ก็กำหนดเช่นกันว่า ดีใจหนอ เสียใจหนอ โกรธหนอ เป็นต้น
๓. เวลานอน เวลานอนค่อย ๆ เอนตัวนอนพร้อมกับกำหนดตามไปว่า นอนหนอ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับอยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติมาจับที่ท้อง แล้วกำหนดว่า พอง หนอ ยุบ หนอ ต่อไปเรื่อย ๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่าจะหลับไป ตอนพอง หรือตอนยุบอิริยาบถต่าง ๆ การเดินไปในที่ต่าง ๆ การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหาร และการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้ปฏิบัติต้องมีสติกำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง คือ มีสติ สัมปชัญญะ เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ตารางการอบรมของศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดจุกเฌอ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา (หลักสูตร ๓ วัน ๒ คืน)

วันที่หนึ่ง

เวลา

๐๘.๐๐ – ๐๙.๓๐ น. รายงานตัว เข้าที่พัก เข้าสู่สถานที่ ประชุม
๐๙.๓๐ – ๑๑.๐๐ น. เปิดการอบรม
๑๑.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๑๓.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. สมาทานศีล ๘ สมาทานกรรมฐาน
๑๔.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๖.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. ดื่มน้ำปานะ ทำกิจส่วนตัว พักผ่อน อิริยาบถ
๑๘.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. ทำวัตรสวดมนต์เย็น
๑๙.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๒๑.๐๐ น พักผ่อนอิริยาบถ

วันที่สอง
เวลา

๐๔.๓๐ น สัญญาณระฆังเตือน ทำกิจส่วนตัว
๐๕.๐๐ – ๐๖.๐๐ น สวดมนต์ทำวัตรเช้า
๐๖.๐๐ – ๐๗.๐๐ น เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๐๗.๐๐ – ๐๘.๐๐ น. รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๐๘.๓๐ – ๑๑.๐๐ น. เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๑.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๖.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. ดื่มน้ำปานะ ทำกิจส่วนตัว พักผ่อน อิริยาบถ
๑๘.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. ทำวัตรสวดมนต์เย็น
๑๙.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๒๑.๐๐ น พักผ่อนอิริยาบถ
วันที่สาม
เวลา

๐๔.๓๐ น. สัญญาณระฆังเตือน ทำกิจส่วนตัว
๐๕.๐๐ – ๐๖.๐๐ น สวดมนต์ทำวัตรเช้า
๐๖.๐๐ – ๐๗.๐๐ น เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๐๗.๐๐ – ๐๘.๐๐ น. รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๐๘.๓๐ – ๑๑.๐๐ น. เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๑.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหาร พักผ่อนอิริยาบถ
๑๓.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. เดินจงกรม นั่งสมาธิ
๑๕.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ขอขมา ลาสิกขาบท พิธีปิดการอบรม

(พนารัตน์ คำภานนท์, ๒๕๔๘, หน้า ๓๘ – ๔๔)

ภาพการเข้าค่ายปฏิบัติธรรมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๙

๑. ภาพนายอำนาจ เดชสุภา กล่าวเปิดการอบรมปฏิบัติธรรม

๒. ภาพนักเรียนรับศีล ๘

๓. ภาพนักเรียนนั่งสมาธิ

๔. ภาพอิริยาบถการยืน

๕. ภาพอิริยาบถการเดิน

๖. ภาพอิริยาบถการนอน

๗. ภาพผู้ปฏิบัติธรรมรับประทานอาหาร

๘. ภาพผู้ปฏิบัติธรรมช่วยกันล้างภาชนะที่ใช้รับประทานอาหาร

๙. ภาพผู้ปฏิบัติธรรมพักผ่อนอิริยาบถ

๑๐. ภาพผู้ปฏิบัติธรรมรับประกาศนียบัตร
ที่มา : ภาพที่ ๑ – ๑๐ โดย อรุณี สังขกุญชร

กลับสู่ด้านบน

0 comments:

Post a Comment

Bookmarks