Wednesday, July 4, 2012

๗. การเข้าร่วมพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

พิธีกรรมทางศาสนา หรือที่เรียกว่า ศาสนพิธี คือ แบบอย่างหรือแบบแผนที่ควรปฏิบัติในทางศาสนา ในทางพระพุทธศาสนา ผู้ประกอบพิธี คือ พระสงฆ์ และผู้ปฏิบัติ คือ พุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธ การประกอบและการปฏิบัติพิธีทางพระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์ คือ การทำบุญอันเป็นการบำเพ็ญความดี นำมาซึ่งความสุขและความเจริญ ศาสนพิธีถือเป็นสื่อสำคัญสำหรับการเผยแผ่ธรรม มีการสืบสานต่อกันมาตั้งแต่เกิดจนตาย ศาสนพิธีหรือพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนามีมากมาย ได้มีการจัดแบ่งไว้เป็นหมวดหมู่ (รายละเอียดของแต่ละหมวดหมู่จะได้ศึกษาในหัวข้อศาสนพิธี) การเข้าร่วมพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาแต่ละหมวดหมู่นั้นจะมีขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของพิธีนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวโดยภาพรวม การเข้าร่วมพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวพุทธมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติดังนี้

๑. ในพิธีที่มีพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบและเป็นประธานในพิธี ชาวพุทธควรแสดงกิริยามารยาททางกาย วาจา และใจ ให้สุภาพเรียบร้อย ถูกต้องเหมาะสม อันแสดงออกถึงความเคารพและความศรัทธาเลื่อมใสควรมีการจัดเตรียมและถวายเครื่องสักการะบูชาใส่ภาชนะที่เหมาะสม
๒. ในขณะสมาทานศีล กล่าวคำอาราธนาและคำถวายต่าง ๆ ควรกล่าวด้วยเสียงดัง ฟังชัด กิริยาอาการต่าง ๆ อยู่ในอาการสงบ
๓. ในขณะฟังพระสวดรับพรพระหรือฟังเทศน์ ควรประนมมือ สำรวมกาย เมื่อพระสวดจบ แต่ละบทหรือเทศน์จบควรยกมือขึ้นไหว้ทุกครั้งเฉพาะขณะที่พระสวด หากจะสวดบทนั้นตามไปด้วยก็ได้

ภาพพระเทศน์มหาชาติ ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
ที่มา : ภาพโดย อรุณี สังขกุญชร

๔. ถ้าในพิธีการประเคนของถวายพระภิกษุสงฆ์ ก่อนถวายและหลังถวายควรน้อมไหว้ ๑ ครั้ง การประเคนจะต้องครบองค์ประกอบการประเคน ผู้ชายสามารถประเคนกับมือท่านได้ สำหรับผู้หญิงต้องวางของไว้บนผ้ารับประเคนที่ท่านถือไว้
๕. การไปร่วมพิธีสวดพระอภิธรรม เมื่อทักทายเจ้าภาพแล้ว ก่อนจะทำความเคารพศพ จะต้องกราบพระพุทธรูปเสียก่อนแล้วจึงทำความเคารพศพ ก่อนกลับก็เช่นเดียวกัน ต้องกราบลาพระพุทธรูปก่อนแล้วจึงกราบศพ หากศพนั้นเป็นศพพระภิกษุจะต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง
๖. ในกรณีต้องนั่งเก้าอี้แถวเดียวกับพระภิกษุสงฆ์ที่มาร่วมพิธี ผู้ชายสามารถนั่งเก้าอี้ติดกับท่านได้ แต่ผู้หญิงจะต้องนั่งห่างออกไป หรืออาจมีผู้ชายนั่งคั่นกลาง การจัดที่นั่งสำหรับ พระภิกษุสงฆ์ต้องจัดไว้แถวหน้าหรือจัดแยกไว้ต่างหาก และไม่ควรนั่งเก้าอี้ที่สูงกว่าเก้าอี้ของพระภิกษุสงฆ์
๗. หากได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรในงานพิธี ก่อนและหลังอาราธนาศีล อาราธนาธรรม อาราธนาพระปริตรและกล่าวคำถวายต่าง ๆ จะต้องกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้งทุกครั้ง

การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา เราควรเตรียมตัวดังนี้
๑. ชำระร่างกายและแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ไม่ควรใส่สีฉูดฉาด
๒. ไปถึงที่ทำพิธีก่อนเวลา โดยเฉพาะเมื่อจะช่วยจัดพิธี ต้องไปเตรียมการก่อนเพื่อให้เสร็จทันพิธี
๓. สำรวมกิริยาวาจาทั้งในขณะที่ยังไม่ได้ทำพิธี ระหว่างทำพิธีและเสร็จพิธีแล้ว
๔. ปฏิสันถารกับผู้เป็นประธานในพิธี ผู้ที่ไปร่วมพิธีแสดงความเคารพนับถือด้วยกาย วาจา ใจ ตามวัยวุฒิ และคุณวุฒิ
๕. รักษามารยาทอย่างไทย เช่น การค้อมตัว เมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่ ไม่ส่งเสียงเอะอะเฮฮา
๖. ทำความเคารพพระสงฆ์ที่มาทำพิธี
๗. ร่วมพิธีโดยตลอด
๘. เมื่อเสร็จพิธีแล้วลาเจ้าภาพหรือประธานในพิธี
การเข้าร่วมพิธีกรรมไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมใด ๆ ชาวพุทธจะต้องมีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนวิธีการปฏิบัติ ตลอดจนความหมาย เหตุผล และความดีงามที่เกิดจากการปฏิบัติพิธีกรรมนั้น ๆ การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การปฏิบัติและการประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง
(จรัส พยัคฆราชศักดิ์ และกวี อิศริวรรณ, ๒๕๔๖, หน้า ๑๕๑ - ๑๕๒)

ภาพคณะครูอาจารย์โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ และผู้ปกครองนักเรียน
ร่วมพิธีบวชสามเณร ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
ที่มา : ภาพโดย อรุณี สังขกุญชร

ภาพคณะนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
ร่วมพิธีบวชสามเณร ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
ที่มา : ภาพโดย อรุณี สังขกุญชร

กลับสู่ด้านบน

0 comments:

Post a Comment

Bookmarks