Wednesday, July 4, 2012

๒. คุณสมบัติของทายกและปฏิคาหก

ทายก หมายถึง ผู้ให้ทาน ปฏิคาหก หมายถึง ผู้รับทาน
ในพระพุทธศาสนา ทานหรือการให้เป็นวิธีการทำบุญวิธีหนึ่ง
การให้นั้นนอกจากเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ยังเป็นการช่วยขัดเกลาจิตใจผู้ให้ให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ด้วย
การให้แบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้
๑. ให้วัตถุสิ่งของ เช่น เงิน อาหาร เสื้อผ้า รวมถึงการออกแรงกายช่วยเหลือผู้อื่นด้วย
๒. ให้ความรู้ เช่น ช่วยทบทวนวิชาที่เพื่อนขาดเรียนเพราะเหตุจำเป็น ช่วยเตือนสติ
ช่วยให้ข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น
๓. ให้อภัย คือ ระงับความโกรธ ไม่ถือโทษเมื่อผู้ทำผิดโดยมีตั้งใจไม่อาฆาต และความตั้งใจงดเว้นไม่ประพฤติผิดศีล รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์

ภาพครูและนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ทำบุญตักบาตร
ที่มา : ภาพโดย อรุณี สังขกุญชร

การให้ที่ดีนั้นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้ให้ (ทายก) และผู้รับ (ปฏิคาหก) ด้วยดังนี้
๑. ให้ทานแก่บุคคลควรให้
การให้ทานแก่คนที่ไม่ควรให้นั้น นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้วยังอาจเป็นโทษด้วย เช่น คนที่ดื่มเหล้าจนเมามายแล้วมาขอเงินเราเพื่อไปซื้อมาดื่มอีก อย่างนี้ไม่ควรให้ เพื่อนที่เล่นการพนันจนติดเป็นนิสัย มาขอเงินหรือขออาหารเราก็ไม่ควรให้
เพราะประพฤติตนไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม อีกทั้งยังไม่รู้จักประกอบสัมมาอาชีวะ หรือคนที่มีร่างกายแข็งแรงแต่มีความเกียจคร้าน วานให้เราช่วยยกของให้ เราก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าเป็นคนเจ็บ ทุพพลภาพ คนชรา สตรีมีครรภ์ อย่างนี้เราควรทำให้ บุคคลเช่นไรที่เราควรให้ทานนั้น เราต้องใช้เหตุผลไตร่ตรองพินิจพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
๒. ให้ในสิ่งที่ควรให้
ของที่เราให้ทานนั้นต้องเป็นของบริสุทธิ์ และเราได้มาโดยชอบธรรม มิใช่ไปลักขโมยหรือฉ้อโกงเขามา และจะต้องไม่มีพิษมีภัย มีแต่ประโยชน์แก่ผู้รับ เช่น เราไม่ควรให้อาวุธหรือยาเสพติดแก่ใคร เพราะการให้สิ่งที่เป็นโทษแก่ผู้รับนั้น ไม่ถือว่าเป็นทาน แต่เป็นการทำร้ายมากกว่า๓. ให้ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์
การให้ที่ดีจะต้องเกิดจากเจตนาที่บริสุทธิ์และเต็มใจให้ กล่าวคือ ก่อนให้ก็มีความยินดีที่จะให้และคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ขณะที่ให้ก็มีจิตใจผ่องใส ไม่คิดเสียดายหรือลังเลใจ และเมื่อให้ไปแล้วก็รู้สึกเบิกบานใจที่ได้ประกอบความดี ทำคุณประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ การให้ที่ดีจะต้องถึงพร้อมด้วยองค์ ๓ ข้างต้น ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ทานสมบัติ ๓” ได้แก่ เขตสมบัติ คือ ผู้รับถึงพร้อม ๑ ไทยสมบัติ คือ ของที่ให้ถึงพร้อม ๑ และจิตสมบัติ คือ เจตนาถึงพร้อม
(วิทย์ วิศกเวทย์ และเสฐียรพงษ์ วรรณปก, ๒๕๔๗, หน้า ๙๘ – ๙๙)

ภาพพระขี่ม้าบิณฑบาต
ที่มา : ภาพโดย วิชนี จันทรประภา

กลับสู่ด้านบน

0 comments:

Post a Comment

Bookmarks