Wednesday, July 4, 2012

๓. มารยาทไทย

มารยาทในอิริยาบถต่างๆ ตามแบบอย่างในวัฒนธรรมไทย เป็นสิ่งจำเป็นที่คนไทยทุกคนจะต้องทราบและปฏิบัติได้โดยถูกต้องกลมกลืนกับคนอื่นในงานพิธีต่างๆ ซึ่งมีแบบเฉพาะที่ต้องปฏิบัติทั้งในเวลาของศาสนพิธีและพิธีอื่น ดังต่อไปนี้

การยืน

การเดิน

การนั่ง

การคลาน

การแสดงความเคารพ

การเข้าพบผู้ใหญ่ การรับของและส่งของ

กลับสู่ด้านบน

๓.๑ การยืน
การยืนมีแบบที่ควรทราบและถือปฏิบัติทั้งในเวลายืนตามลำพัง ยืนเฉพาะหน้าผู้ใหญ่ และยืนแสดงความเคารพในโอกาสต่างๆ ดังนี้
๑ การยืนตามลำพัง ควรให้เป็นไปในลักษณะสุภาพ สบาย ขาชิด สง่า ไม่หันหน้าหรือแกว่งแขนไปมา
๒ การยืนเฉพาะหน้าผู้ใหญ่ ควรยืนตรง ขาชิด ปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย มือทั้งสองแนบข้างลำตัว ถ้าต่อหน้าผู้ใหญ่ที่อาวุโสสูง หรือพระสงฆ์ หรือเป็นการยืนหน้าที่ประทับควรค้อมส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปเล็กน้อย โดยคว่ำมือซ้อนกัน จะเป็นมือไหนทับมือไหนก็ได้หรือจะประสานมือทั้งสองอย่างหลวมๆ คือ หงายมือทั้งสองสอดนิ้วเข้าระหว่างช่องนิ้วของแต่ละมือก็ได้ การค้อมตัวจะมากน้อยพึงประมาณด้วยตนเอง เช่น ยืนหน้าที่ประทับก็ค้อมตัวมากหน่อย เป็นต้น
๓ การยืนถวายความเคารพพระมหากษัตริย์หรือพระมเหสี ควรแสดงต่างกันสำหรับชาย - หญิง คือ
สำหรับชาย
- สวมหมวกเครื่องแบบ ยืนตรง แล้วกระทำวันทยหัตถ์
- ไม่ได้สวมหมวก ยืนตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านแล้วถวายคำนับ การถวายคำนับให้ก้มศีรษะและส่วนไหล่ลงช้าๆ ต่ำพอสมควร กระทำครั้งเดียว แล้วยืนตรงอย่าผงกศีรษะเร็วเกินไป
- ถ้าสวมหมวกอื่นที่ไม่ใช่เครื่องแบบ ต้องถอดหมวกก่อนถวายคำนับ
สำหรับหญิง
- ยืนตรง เท้าชิด หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน
- ชักเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปทางหลัง โดยวาดเท้าไปอีกทางด้านหนึ่งของเท้าที่ยืนทำพร้อมกับย่อเข่าอีกข้างหนึ่งลงช้าๆ
- เมื่อจวนจะต่ำสุด ให้ยกมือทั้งสองขึ้น วางประสานกันบนหน้าขาข้างที่ย่อต่ำลง (หน้ามือที่ประสานกัน) ให้ค่อนไปทางเข่า (ถ้าไม่ได้ถือของทั้งสองมือ)
- ก้มศีรษะลงเล็กน้อย
- เงยศีรษะขึ้นพร้อมกับชักเท้าข้างที่ไข้วกลับที่เดิม และตั้งเข่าตรง
๔ การยืนแสดงความเคารพเมื่อมีการบรรเลงเพลงเคารพ เพลงเคารพ ได้แก่ เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาฤกษ์ เพลงมหาชัย เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีให้ยืนขึ้นอย่างสุภาพแล้วระวังตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านหรือพระบรมฉายาลักษณ์หรือประธาน
ที่เชิญชวนถวายพระพรในงานนั้นๆ ต้องยืนจนจบเพลง ถ้าเป็นการบรรเลงที่ปรากฏพระองค์ต้องถวายความเคารพเมื่อเห็นพระองค์ครั้งหนึ่งเมื่อจบเพลงให้ถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงนั่งหรือเคลื่อนที่แล้วแต่กรณี เมื่อได้ยินเพลงชาติให้ยืนขึ้นอย่างสุภาพแล้วระวังตรง เมื่อจบเพลงแล้วจึงนั่ง หรือเคลื่อนที่แล้วแต่กรณี เมื่อได้ยินเพลงมหาฤกษ์ซึ่งใช้ในการเริ่มพิธีสำคัญต่างๆ ให้ยืนขึ้นอย่างสุภาพหันหน้าไปทางประธานที่ทำพิธีหรือการดำเนินพิธีนั้นแล้วระวังตรง เมื่อจบเพลงจึงนั่งลงหรือเคลื่อนที่แล้วนั่งลง ในกรณีนี้อาจจะมีพระเจริญชัยมงคลคาถาด้วย เมื่อนั่งลงแล้วควรประนมมือนั่งฟังพระเจริญชัยมงคลคาถาจนจบก่อน จึงลุกหรือเคลื่อนที่ไปที่อื่น เมื่อได้ยินเพลงมหาชัยซึ่งใช้แสดงความเคารพต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับเมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี
๕ ในเวลาอยู่หน้าพระที่นั่ง จะยืนอยู่หรือนั่งอยู่ เวลาจะลุกขึ้นยืนหรือเคลื่อนที่ไปไหน ต้องถวายความเคารพก่อนทุกครั้ง การยืนรับเสด็จเวลาเสด็จพระราชดำเนินผ่าน สำหรับชายยืนตรง ถวายคำนับ หญิงถอนสายบัว ถ้าแต่งเครื่องแบบสวมหมวกให้ทำวันทยหัตถ์

กลับสู่ด้านบน

๓.๒ การเดิน
การเดินตามลำพัง เดินกับผู้ใหญ่ เดินนำเสร็จ และตามเสร็จ และเดินไปในโอกาสต่างๆ มีแบบและวิธีปฏิบัติที่ควรทราบดังนี้
๑ เดินตามลำพัง เดินอย่างสุภาพ หลังตรง ช่วงเท้าไม่ยาวไม่สั้นเกินควร แกว่งแขน พองาม ถ้าเป็นสตรี ควรระมัดระวังให้สะโพกเป็นไปตามปกติ
๒ เดินกับผู้ใหญ่ เดินทางซ้ายระดับต่ำกว่าผู้ใหญ่ ลักษณะนอบน้อม ไม่ส่ายตัว ไม่โยกศีรษะ ถ้าเป็นการเดินระยะใกล้ๆ มือควรประสานกัน

การเดินผ่านพระสงฆ์หรือผู้ใหญ่

(๑) ชาย
ค้อมตัวเล็กน้อย

(๒) หญิง
ค้อมตัวและย่อเข่าด้วย

เดินตามหลังพระ

เดินตามหลังผู้ใหญ่

กลับสู่ด้านบน

๓.๓ การนั่ง
การนั่ง การหมอบและการนั่งคุกเข่าในงาน และโอกาสต่างๆ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
๑ นั่งเก้าอี้ การนั่งเก้าอี้ นั่งตัวตรง หลังพิงพนักเก้ากี้ เท้าชิด เข่าชิด มือวางบนหน้าขา ถ้าเป็นเก้าอี้เท้าแขน เมื่อนั่งตามลำพังจะเอาแขนพาดเท้าแขนก็ได้ ไม่ควรนั่งเอาปลายเท้าหรือขาไขว้กันอย่าง “ไขว่ห้าง” ควรนั่งเต็มเก้าอี้ อย่านั่งโดยโยกเก้าอี้ให้ยกหน้าหรือเอนหลัง ถ้าเป็นหญิงต้องระมัดระวังเครื่องแต่งกาย อย่าให้ประเจิดประเจ้อ
ในราชฐาน ต้องนั่งด้วยความเคารพ
๒ การนั่งลงศอกในกรณีนั่งเก้าอี้ เมื่อนั่งเก้าอี้ตามมารยาทการนั่งเก้าอี้แล้วให้น้อมตัวลงเงยหน้าเล็กน้อย วางแขนทั้งสองลงบนหน้าขา มือประสานกัน
๓ นั่งกับพื้น นั่งพับเพียบในลักษณะสุภาพ ยืดตัว ไม่ต้องเก็บปลายเท้า แต่อย่า เหยียดเท้า ถ้านั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ ต้องนั่งเก็บเท้า มือประสานไม่นั่งทับเท้า
๔ การนั่งลงศอกในกรณีนั่งบนพื้น ให้นั่งในท่าพับเพียบเก็บปลายเท้า แล้วน้อมตัวลงต่ำ เงยหน้าเล็กน้อย วางส่วนแขนขวาลงบนหน้าขามือประสานกัน
๕ การหมอบ ให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้าก่อน แล้วหมอบลงไปให้เข่าข้างหนึ่งอยู่ระหว่างแขนทั้งสองข้าง แขนวางราบกับพื้นตลอดครึ่งแขน ส่วนมือถึงศอกประสานหรือประนมแล้วแต่กรณี
๖ การนั่งคุกเข่า ให้นั่งตัวตรง วางก้นบนส้นเท้า ปลายเท้าตั้ง มือทั้งสองประสานกัน หรือจะวางคว่ำบนหน้าขาก็ได้
๗ การนั่งหน้ารถพระที่นั่งหรือรถที่นั่ง ตามธรรมดาต้องเป็นชาย ก่อนที่จะขึ้นนั่งต้องถวายเคารพก่อน แล้วขึ้นนั่งโดยหันหลังขึ้นนั่งพร้อมกับยกขาขึ้นตามไปด้วย นั่งตัวตรง ขาชิดเข่าชิด หลังแตะพนักแต่ไม่พิง มือประสานบนตัก สำรวมอิริยาบถ แต่ให้ผึ่งผาย ไม่เหลียวหน้าไปทางใด

กลับสู่ด้านบน

๓.๔ การคลาน
การคลาน เป็นมารยาทที่ปฏิบัติเวลานั่งอยู่กับพื้นแล้วต้องเคลื่อนที่ไปปฏิบัติกิจธุระต่างๆ มีแบบปฏิบัติดังนี้
๑ การคลานลงมือ ใช้ในกรณีไม่ได้ถือของ โดยเริ่มจากนั่งคุกเข่าตัวตรงโน้มตัวลง เอามือจรดพื้น ฝ่ามือติดพื้น นิ้วติดกัน ปลายนิ้วชี้ไปข้างหน้า ปลายเท้าตั้งคลานโดยสืบเข่าและมือไปข้างหน้าสลับข้างกัน อย่าให้ส่วนหลังโค้ง
และอย่าให้หลังย้อยต่ำ ซึ่งจะทำให้สะโพกยก คลานตรงๆ อย่าส่ายสะโพก คลานให้ระยะห่างของมือและเท้าเท่ากัน
ตลอดทาง อย่าให้มือชิดกัน ให้ห่างกันเท่ากับระยะช่วงไหล่ อย่าก้มหน้า

ภาพการการคลาน

๒ การคลานยกของ ถ้ายกของหรือถือของคลานจะต้องคลานในแบบยกของที่เรียกง่ายๆ ว่า “คลานโขยก”
ยกของมือเดียวคลานแบบหนึ่ง สองมือคลานอีกแบบหนึ่ง การยกของคลานสำหรับผู้หญิง ถ้าเป็นของเล็กยกมือเดียว
ถ้าเป็นของใหญ่ยกสองมือ แต่สำหรับผู้ชายคลานยกของ ไม่ว่าของที่ยกจะเป็นของใหญ่หรือของเล็กจะต้องยก
สองมือเสมอ โดยปฏิบัติ ดังนี้
การคลานลงมือ ผ่านพระสงฆ์หรือผู้ใหญ่

การคลานลงมือ ผ่านพระสงฆ์หรือผู้ใหญ่
๑. คลานยกของมือเดียว (สำหรับผู้หญิง)
๑.๑ ถือของด้วยมือขวา วางของบนฝ่ามือ แขนขวาเชิญตั้งฉากกับลำตัว
๑.๒ ก้าวเข่าไปข้างหน้า พร้อมกับลากขาอีกข้างหนึ่งตามไป
๑.๓ มือซ้ายแตะพื้นอย่างหย่งมือ คือ ปลายนิ้วจรดพื้น ฝ่ามือพ้นพื้น
๑.๔ เมื่อเข่าทั้งสองเสมอกันแล้ว ลดเข่าลงพร้อมกัน
๑.๕ ปลายเท้าหรือปลายรองเท้าต้องตั้งอยู่เสมอ
๑.๖ ตัวตรง หน้าตรง
๑.๗ ทำสม่ำเสมอตลอดระยะทางไม่หยุดชะงักเป็นตอน ๆ ถ้าจะถอยหลังก็คลานรวมถอยหลังไปเหมือนเดินเข่า
๒. คลานยกของสองมือ
แบบชาย คลานเหมือนคลานเช่นในการแสดงโขน ละคร
๑.๑ ถือของสองมือในระดับหน้าท้อง แขนตั้งฉาก ไม่กางศอก
๑.๒ นั่งคุกเข่า
๑.๓ ยกเข่าไปข้างหน้า ตัวเฉียง พร้อมกับวาดเท้าอีกข้างหนึ่งไปหาเท้าของเข่าที่ยกไป
๑.๔ ปลายเท้าตั้ง
๑.๕ ทำเช่นนี้สลับข้างกันไป
๑.๖ ระหว่างคลานลำตัวตั้งตรง ค่อนข้างยกอก
๓. คลานถอยหลัง ยกเท้าข้างหนึ่ง
๑.๑ วางเท้าอีกข้างหนึ่งตามไปวางข้างเท้าของขาที่ยกไป
๑.๒ ทำสลับกันไป
แบบหญิง ถือของสองมือ
๑.๑ ยกเข่าข้างหนึ่งตั้ง
๑.๒ ลากขาอีกข้างหนึ่งตาม
๑.๓ เมื่อเข่าเสมอกันลดลงพร้อมกัน ให้เข่าที่ตั้งถึงพื้นเข่าของเขาที่ลากมาอยู่สูงกว่าพื้นเล็กน้อย
๑.๔ ยกเข่าข้างที่ไม่จรดพื้นไปข้างหน้า แล้วลากของเข่าที่จรดพื้นตามไป แล้วทำเช่นข้างต้น ทำอย่างนี้สลับกันไป
และสม่ำเสมอไม่หยุดชะงักเป็นตอน ๆ (กรมการศาสนา, ๒๕๔๕, หน้า ๒๐๙ – ๒๑๗)

กลับสู่ด้านบน

๓.๕ การแสดงความเคารพ
การแสดงความเคารพระหว่างบุคคลนอกจากเคารพพระดังกล่าวแล้วในตอนต้นของบทนี้มีวิธีปฏิบัติดังนี้
๑. การแสดงความเคารพระหว่างบุคคล เมื่อยืนอยู่แสดงความเคารพกันได้หลายแบบ เช่น ในกรณีแต่เครื่องแบบสวมหมวก ใช้ “วันทยหัตถ์” ถ้าแต่งเครื่องแบบแต่ไม่สวมหมวกใช้การ ก้มศีรษะ ในกรณีไม่ได้แต่งเครื่องแบบแต่มีหมวก เฉพาะชายใช้การ เปิดหมวก ส่วนหญิงจะสวมหมวกหรือไม่ก็ตามใช้ การไหว้ โดยไม่ต้องถอดหมวกแม้จะสวมหมวกอยู่ ชายถ้าจะใช้การไหว้ก็ควรจะถอดหมวกเสียก่อน หรือไม่ได้สวมหมวกก็ใช้ การไหว้
การแสดงความเคารพเมื่อนั่งอยู่กับพื้น ถ้าผู้ที่จะเคารพเป็นผู้อาวุโสพอสมควรก็นั่งพับเพียบ เก็บเท้ายกมือไหว้ พร้อมกับน้อมตัวก้มศีรษะ
การแสดงความเคารพเมื่อนั่งอยู่กับพื้น ถ้าผู้ที่จะเคารพมีอาวุโสน้อย ก็หันไปไหว้ธรรมดา ถ้าผู้ที่จะเคารพมีอาวุโสมาก ก็หันไปน้อมตัวไหว้แล้วควรนั่งประสานมือ ในกรณีผู้ที่จะทำความเคารพยังไม่ได้นั่งเก้าอี้ ก็เดินไปนั่งเก้าอี้เสียก่อนแล้วจึงไหว้
๒. การถวายความเคารพพระมหากษัตริย์และพระมเหสี ตามประเพณีไทยแต่โบราณใช้การถวายบังคม ซึ่งยังคงใช้อยู่มาจนปัจจุบัน ทำได้ทั้งชายและหญิง แต่โอกาสที่หญิงจะถวายบังคมมีน้อย เพราะโดยมากใช้วิธีกราบ การถวายบังคมมีวิธีการดังนี้
๑. นั่งคุกเข่า ยกอก วางมือคว่ำลงบนหน้าขา สำหรับชายแยกเข่าเล็กน้อย อย่าให้ถึงกับเป็นแบบผายเข่า สำหรับหญิงให้นั่งพองาม นั่งบนส้นเท้าปลายเท้าตั้ง มือทั้งสองวางคว่ำที่หน้าขา ยกตัวตั้งตรง อย่าห่อไหล่ หรือยกไหล่
๒. ยกมือขึ้นประนมตรงระหว่างทรวงอก แล้วทอดมือที่ประนมนั้นไปข้างหน้าให้ปลายมือต่ำลงระดับท้องแต่ไม่ถึงห้อย พร้อมกับโน้มตัวไปข้างหน้า แล้วยกปลายมือกลับขึ้นจนหัวแม่มือทั้งสองจรดหน้าผาก ลำตัวเฉพาะเหนือเอวเอนไปข้างหลัง ชายเอนมากกว่าหญิง หน้าเงยขึ้นให้ตาอยู่ระดับนิ้วหัวแม่มือ ระดับของลำตัว ในขณะมืออยู่ในระดับจรดหน้าผากจะต้องเอนเล็กน้อยไม่ใช่ตั้งตรง แต่ไม่ใช้เอนจนหงาย หรือหงายแค่คอ ท่าเอนนี้ลำตัวจะโค้งเล็กน้อย ศอกจะถ่างออก
๓. ลดมือลงพร้อมกับโน้มตัวกลับไปข้างหน้า ให้มือลงมาถึงระดับหน้าท้อง ปลายมือต่ำ
๔. ยกปลายมือขึ้นในท่าประนม ปลายมือตั้งพร้อมกับเลื่อนมือขึ้นสู่ระดับอก และยกตัวขึ้นตรง ทำเช่นนี้สามครั้ง แล้วเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่าหมอบ อนึ่ง การถวายความเคารพนี้ ถวายความเคารพเฉพาะพระพักตร์ หรือระยะใกล้พระพักตร์พอสมควร เมื่อถวายความเคารพตอนเสด็จผ่านแล้ว ตอนเสด็จผ่านอีกไม่ต้องกราบแต่ควรอยู่ในอาการสุภาพ

กลับสู่ด้านบน

๓.๖ การเข้าพบผู้ใหญ่ การส่งและการรับของ
การเข้าพบผู้ใหญ่ และการส่งของรับของเป็นมารยาทที่ทุกคนต้องทราบและปฏิบัติให้ถูกต้องกับบุคคล แลโอกาส ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
๑. การเข้าพบผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ยืนอยู่ให้ผู้เข้าพบเดินอย่างสุภาพเข้าไปใกล้พอสมควร (อย่าให้ตรงหน้าผู้ใหญ่นัก) ไหว้แล้วยืนสำรวมมือประสานกัน ถ้าผู้ใหญ่นั่งอยู่ที่เก้าอี้ ให้เดินอย่างสุภาพ เมื่อใกล้ผู้ใหญ่ให้ไหว้ แล้วนั่งเก้าอี้ อย่านั่งเก้าอี้ตรงหน้าผู้ใหญ่ทีเดียว หรือจะเดินเข้าไปอย่างสุภาพไปนั่งเก้าอี้แล้วหันมาไหว้
การเข้าพบผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่กับพื้น ให้เดินเข้าไปอย่างสุภาพ เมื่อเข้าไปในระยะพอสมควรแล้ว ลงคลานลงมือเข้าไปใกล้พับเพียบเก็บเท้า ถ้าเป็นผู้อาวุโสน้อยใช้ไหว้แล้วนั่งแบบนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ ถ้าเป็นผู้อาวุโสมากใช้กราบแล้วนั่งลงศอกหรือหมอบ
๒. การส่งของให้ผู้ใหญ่ เมื่อผู้ส่งและผู้รับนั่งบนเก้าอี้ด้วยกัน ผู้ส่งก็น้อมตัวลงให้ด้วยมือขวาถ้าของไม่หนัก ถ้าเป็นของหนักก็ควรน้อมตัวส่งด้วยมือทั้งสอง ถ้าผู้รับนั่งอยู่บนเก้าอี้ ผู้ส่งเดินเข้ามายืนระยะห่างพอสมควร แล้วโน้มตัวส่งให้ แต่ถ้าผู้ใหญ่อาวุโสมากผู้ส่งอาจเข้าไปนั่งคุกเข่าให้ก็จะน่าดูขึ้น การส่งของให้ผู้ใหญ่ที่นั่งกับพื้น ผู้ส่งควรเดินเข้าไประยะพอสมควรแล้วลงนั่งพับเพียบหรือเดินเข้าไปใกล้พอสมควรแล้วคลานเข้าไปนั่ง ส่งของให้แล้วไหว้ หรือวางของลงก่อนแล้วไหว้ แล้วยกของไหว้
๓. การแจกของชำร่วย ตามปกติของชำร่วยจะวางไว้บนพานหรือถาด ผู้แจกจับภาชนะสองมือ ถ้าเป็นพานก็จับที่คอพาน แล้วยื่นพานให้ผู้รับแจกหยิบเอาเอง อย่าหยิบส่งเว้นแต่แจกของชำร่วยในงานมงคลสมรส ซึ่งเจ้าบ่าวเป็นผู้ถือพานใส่ของชำร่วยและให้เจ้าสาวหยิบของชำร่วยให้ โดยย่อตัวเล็กน้อยหรือย่อลงเข่าข้างเดียว หรือนั่งลงเข่าทั้งสองข้าง หรือนั่งพับเพียบตามแต่ผู้รับจะนั่งอยู่บนเก้าอี้หรือพื้น หรือมีอาวุโสอย่างไร แล้วหยิบของชำร่วยส่งให้ผู้รับ
๔. การรับของจากพระสงฆ์ ถ้าในขณะที่พระสงฆ์ยืนอยู่หรือนั่งในที่สูงให้ผู้รับเดินเข้าไปด้วยกิริยาอาการสำรวม เมื่อได้ระยะพอสมควร ให้ยืนตรง น้อมตัวลงไหว้และยื่นมือทั้งสองเข้าไปรับพร้อมกับน้อมตัวลงเล็กน้อย สำหรับชายรับของจากมือท่านได้ แต่สำหรับหญิงให้แบมือทั้งสองชิดกันคอยรองรับสิ่งของที่ท่านจะปล่อยลงในมือให้ เมื่อรับสิ่งของแล้ว ถ้าสิ่งของเล็กนิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้พร้อมกับสิ่งของในมือ ถ้าสิ่งของที่รับนั้นใหญ่หรือหนัก ก็ไม่ต้องไหว้ รับแล้วค่อยหันตัวกลับเดินไปได้
ถ้าในขณะที่พระสงฆ์นั่งเก้าอี้ ให้ผู้รับเดินเข้าไปด้วยอาการสำรวม เมื่อเข้าไปใกล้พอสมควรให้ยืนตรงแล้วนั่งคุกเข่าข้างซ้ายชันเข่าขวา น้อมตัวลงยกมือไหว้ แล้วยื่นมือทั้งสองออกไปรับของเช่นที่กล่าวมาแล้ว เมื่อรับของแล้วถ้าของนั้นเล็กก็น้อมตัวลงไหว้พร้อมกับของนั้นอยู่ในมือ ถ้าเป็นของใหญ่หรือของหนัก นิยมวางของนั้นไว้ข้างตัวด้านซ้ายมือ น้อมตัวลงไหว้แล้วยกของนั้นด้วยมือทั้งสองประคองขึ้น ลุกขึ้นยืนหันหน้ากลับเดินไปได้

การรับของที่ระลึก จากพระสงฆ์ (ชาย)
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค พรไชยะสิทธิ์

การรับของที่ระลึก จากรพะสงฆ์ (หญิง)
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค พรไชยะสิทธิ์

ถ้าในขณะพระสงฆ์นั่งกับพื้น ให้เดินเข้าไปด้วยกิริยาสำรวม เมื่อใกล้อาสนะที่พระสงฆ์นั่งอยู่พอสมควร นั่งคุกเข่าลงแล้วเดินเข่าหรือคลานเข้าไปจนได้ระยะรับของแล้วนั่งคุกเข่าสำหรับชายหรือนั่งพับเพียบสำหรับหญิง กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ หน แล้วยื่นมือทั้งสองไปรับของแบบที่กล่าวมาแล้ว เมื่อรับของแล้ว นิยมวางของนั้นไว้ข้างตัวด้านขวามือ กราบ ๓ หน แล้วหยิบของนั้นด้วยมือทั้งสองประคองเดินเข่าถอยหลังไป จนห่างพอสมควรแล้วลุกขึ้นยืนหันเดินกลับได้

๕. การรับของพระราชทานจากผู้อื่น ซึ่งเป็นประธานในงาน ในการรับของพระราชทาน ซึ่งผู้เป็นประธานในงานเป็นผู้มอบ โดยมากตั้งโต๊ะบูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์เสมอ ผู้รับจึงถือเสมือนรับพระราชทานจากองค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเข้าไปรับถวายคำนับพระบรมรูปก่อน แล้วรับจากผู้มอบโดยไม่ต้องทำความเคารพผู้มอบ เวลารับควรนั่งย่อเข่าข้างหนึ่งรับ เมื่อรับแล้วผู้รับหันหน้าไปทางพระบรมรูปถวายคำนับ เดินถอยหลังประมาณ ๓ ก้าว แล้วจึงกลับตัวเดินเข้าที่ ในการรับไม่ต้องทำ “เอางาน” แต่เมื่อรับแล้วต้องเชิญของเหมือนกับรับพระราชทานจากพระหัตถ์

กลับสู่ด้านบน

๓.๗ วิธีประเคนของพระ
การประเคนของพระ คือ การถวายของให้พระได้รับถึงมือ ของที่ประเคนนั้นต้องเป็นของที่คนเดียวพอยกได้อย่างธรรมดา
ไม่ใช่ของหนัก หรือใหญ่โตจนเกินไป ไม่มีวัตถุอนามาส คือ เงิน ทอง หรือของกะไหล่ด้วยเงินแท้หรือทองแท้ปนอยู่ด้วย
เพราะเป็นของไม่เหมาะแก่ภาวะของพระที่จะรับได้และถ้าเป็นของเคี้ยวของฉัน ต้องประเคนได้เฉพาะในกาล นอกกาล คือ เวลาวิกาล
ตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงย่ำรุ่งวันใหม่ ไม่ควรนำมาประเคน วิธีประเคนนั้น พึงปฏิบัติดังนี้
วิธีประเคน สำหรับชายและหญิง พึงปฏิบัติต่างกันดังนี้
สำหรับชาย พึงนั่งคุกเข่าหรือยืนตามความเหมาะสมแก่สถานที่ คือ ถ้าพระนั่งเก้าอี้ พึงยืน ถ้าพระนั่งกับพื้น พึงนั่งคุกเข่า
ยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสอง น้อมสิ่งของนั้นเข้าไปใกล้พระผู้รับประเคน ยกให้พ้นจากพื้น ส่งถวายถึงมือพระผู้รับประเคน
ถ้าสิ่งของนั้นมีหลายถ้วยจัดมาถวายองค์ละถ้วย ให้หยิบถวายที่ละถ้วย ไม่นิยมถวายด้วยการยกถวายทั้งหมดโดยให้พระท่านยกเอาเอง
เมื่อถวายเสร็จแล้ว พึงไหว้หรือกราบด้วยการแสดงความเคารพทุกครั้ง
สำหรับหญิง พึงยืนหรือนั่งพับเพียบตามความเหมาะสมแก่สถานที่ดังกล่าวแล้ว
แล้วยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสองน้อมเข้าไปใกล้พระผู้รับประเคนพอสมควร
วางบนผ้าที่พระทอดรับประเคนนั้นจะส่งถวายให้ถึงมือพระแบบชายถวายไม่ได้ และระวังรอให้พระจับชายผ้าทอดรับประเคนนั้นเสียก่อน
จึงวางสิ่งของที่จะประเคนลงบนผืนผ้านั้น เมื่อถวายเสร็จแล้วพึงไหว้หรือกราบเป็นการแสดงความเคารพทุกครั้ง
ข้อควรระวัง สิ่งของที่ประเคนแล้วนั้นห้ามฆราวาสไปจับต้อง หากฆราวาสไปจับต้องถือว่าเป็นการขาดประเคน
ต้องประเคนสิ่งของนั้นเสียใหม่ จึงจะไม่เกิดโทษแก่พระสงฆ์

ลักษณะการประเคนของพระที่ถูกต้อง มีดังนี้
๑. ของที่ประเคนพระนั้นต้องไม่ใหญ่โต หรือหนักเกินไป พอคนขนาดปานกลางยกคนเดียวได้และต้องยกของนั้นให้พ้นที่ของนั้นวางอยู่
๒. ผู้ประเคนต้องเข้ามาในหัตถบาส คือผู้ประเคนต้องอยู่ห่างจากพระผู้รับประเคนประมาณ ๑ ศอก
๓. ผู้ประเคนน้อมสิ่งของนั้นเข้ามาให้ด้วยอาการแสดงความเคารพ
๔. กิริยาที่น้อมสิ่งของเข้าให้นั้นจะส่งให้ด้วยก็ได้ หรือจะตักส่งให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น ใช้ทัพพีตักถวายก็ได้
๕. พระภิกษุผู้รับประเคน จะรับด้วยมือก็ได้ จะเอาผ้าทอดรับก็ได้ หรือจะเอาภาชนะรับ เช่น
เอาบาตรหรือจานรับสิ่งของที่เขาตักถวายก็ได้
การประเคนที่ประกอบด้วยลักษณะ ๕ ประการนี้ จึงจะถูกต้องตามพระพุทธานุญาตไม่เกิดโทษแก่พระสงฆ์
หลักสำคัญของการประเคนนี้ ต้องแสดงออกด้วยความเคารพ ไม่ใช่เสือกไสให้หรือทิ้งให้โดยไม่เคารพ
(กรมการศาสนา, ๒๕๔๕, หน้า ๒๑๗ – ๒๒๒)


การเดินเข่าประเคนของแด่พระสงฆ์ (ชาย)
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค พรไชยะสิทธิ์


การเดินเข่าประเคนของแด่พระสงฆ์ (หญิง)
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค พรไชยะสิทธิ์

ทำแบบฝึกหัดกันนะคะ

กลับสู่ด้านบน

0 comments:

Post a Comment

Bookmarks